“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2566 ตอน ล้มดีลบินรบเอฟ-35 สัญญาณเตือนจากไอ้กันอันตราย
ท่ามกลางข้อสงสัยว่าพรรคก้าวไกล จะเป็น “รัฐบาลร่างทรง” ที่มีสหรัฐอเมริกา ชักใยอยู่เบื้องหลังในร่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคสีส้ม ที่ตั้งท่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ในวันนี้ แม้พรรคก้าวไกลจะยอมถอยในเรื่องมาตรา 112 โดยไม่มีการระบุถึงเรื่องดังกล่าวในการลงนามใน MOU กับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ที่จับมือกันเพื่อเตรียมเป็นรัฐบาล 8 พรรค แต่ในส่วนของข้อกล่าวหาเรื่องสีส้มโปรฯ อเมริกา สีส้มเป็นสาวกลุงแซม พรรคก้าวไกลยังคงวางเฉยไม่ตอบโต้ หรือแสดงท่าทีใดๆ ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อเป็นดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่มี 250 ส.ว. ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.เป็นแกนหลัก ก็มีแนวโน้มที่จะปักใจเชื่อว่าพรรคก้าวไกลได้รับแรงหนุนข้ามทวีปมาจากอีกซีกโลกหนึ่ง
และความเชื่อนั้นก็ยิ่งมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เมื่อจู่ๆ ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยได้เข้าพบ พลอากาศเอกอลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกการขายเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-35 เอ ให้แก่กองทัพอากาศไทย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจนถึงปี 2575 จำนวน 12 ลำ มูลค่า 43,000 ล้านบาท
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของไทย ถูกปฏิเสธจากประเทศผู้ผลิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่า มีสายสัมพันธ์แนบแน่นทางด้านการทหารกับไทยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จนถึงกับมอบสถานะ “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต” (Major Non-NATO Ally: MNNA) ให้กับประเทศไทยในปี 2546 ซึ่งเป็นพันธมิตรหรือข้อตกลงทวิภาคี ที่ไม่อยู่ภายใต้องค์การนาโต อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศไทย
ขณะที่ในส่วนของกองทัพอากาศ อาวุธยุทโธปกรณ์หลักๆ ทั้งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่สั่งซื้อจัดหาจากสหรัฐอเมริกาแทบทั้งสิ้น คนไทยจึงคุ้นหูกับชื่อเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-5 มาจนถึง เอฟ-16 แม้ว่าจะถูกเบียดแทรกด้วยเครื่องบินขับไล่แบบกริพเพ่น จากสวีเดน ที่ผ่านการคัดเลือกของกองทัพอากาศในยุคหนึ่ง ก่อนที่ความเชื่อมั่นและความต้องการของลูกทัพฟ้าจะกลับคืนสู่เครื่องบินขับไล่ตระกูลเอฟ ของสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง จนนำไปสู่โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-35 เอ จำนวน 12 ลำ ดังกล่าว
ซึ่งเป็นการซื้อเข้ามาประจำการทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าของกองทัพ คือ เอฟ-5 ที่ปลดประจำการไปแล้ว และ เอฟ-16 ซึ่งกำลังจะตกยุคเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงในอนาคตอันใกล้
เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยาน เทคโนโลยีอวกาศ และยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศระดับโลกสัญชาติอเมริกัน เริ่มขึ้นบินครั้งแรกในปี 2549 ปัจจุบันมี 3 รุ่น ได้แก่ เอฟ-35 เอ, เอฟ-35 บี และ เอฟ-35 ซี
เอฟ-35 จัดว่าเป็นเครื่องบินยุค 5 แตกต่างจากเครื่องบินยุค 4 (อาทิ เอฟ-16) ทั้ง การล่องหนหายตัวผ่านระบบเรดาร์ที่มองไม่เห็น เนื่องจากคุณสมบัติสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ จึงสามารถเจาะลึกเข้าไปในน่านฟ้าของศัตรูโดยไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ บิน ด้วยท่วงท่าพิสดารได้มากขึ้น มีเซ็นเซอร์รอบตัว บินระยะไกลด้วยความเร็วเหนือเสียงได้นานกว่าเครื่องบินยุค 4 ที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า และมีความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลในอนาคตที่เหนือกว่า
โดยกองทัพอากาศคาดว่า โครงการจัดหาเครื่องบินเอฟเอฟ-35 จะเป็นโครงการที่จะทำให้เกิดความทันสมัยขึ้นใน "ทุกองคาพยพของกองทัพอากาศไทย"
แต่แล้วความต้องการนั้น ก็ต้องกลับกลายเป็นหมัน
เมื่อ ทูตสหรัฐฯ แจ้งข่าวการปฏิเสธการจัดหาเครื่องบินเอฟ 35 ของไทยว่า ยังไม่ขายให้ ขอชะลอทำสัญญาการซื้อขายไปก่อน พร้อมให้เหตุผลอย่างนิ่มๆ แต่ “เจ็บลึก”
ว่า “เพราะกองทัพอากาศไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะรองรับเครื่องบิน เอฟ-35 โดยเฉพาะในเรื่องของสถานที่อันได้แก่ สนามบิน อาคารสถานที่ และข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวโยง ซึ่งจะนำมาซึ่งความปลอดภัยของเครื่องบินสมรรถนะก้าวหน้าอย่าง เอฟ-35 เอ”
ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างทราบดีว่า เครื่องบินรบไม่ใช่สินค้าที่ตั้งอยู่บนชั้นวาง ผลิตออกมาสำเร็จรูป สามารถจ่ายเงินซื้อแล้วหยิบของไปได้เลย
แต่เครื่องบินหากจะซื้อขาย ผู้ขายจะต้องเปิดสายการผลิต ต้องประกอบร่าง ตามสเปกที่ผู้ซื้อต้องการ ต้องทดสอบ ต้องฝึกอบรมทั้งนักบินและช่างเครื่องที่จะทำการซ่อมบำรุง ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้เวลาทั้งสิ้น
ดังนั้นห้วงเวลาดังกล่าวฝ่ายไทยย่อมสามารถ “เตรียมความพร้อม” ที่จะรองรับการส่งมอบ เอฟ-35 ได้ หากสหรัฐฯ ยินยอมขายให้
แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ขาย ซึ่งความเป็นไปที่เกิดขึ้นดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายไทยอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดการยกเลิกการขายเครื่องเอฟ-35 เอ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่พรรคก้าวไกลกำลังจะจัดตั้งรัฐบาลและถูกฝ่ายตรงข้ามต่อต้าน
ทั้งนี้หากสังเกตจากท่าทีและคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รักษาการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งค่อนข้างจะมีน้ำเสียงที่หงุดหงิดใส่นักข่าว เมื่อถูกถามถึงเรื่องดังกล่าว โดยพลเอกประยุทธ์กล่าวสั้นๆ
“ ไม่ขายก็ไม่ซื้อ แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ....เหตุผลที่ไม่ขายผมไม่รู้หรอกก็ให้กองทัพอากาศชี้แจง”
ถึงตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ากองทัพอากาศต้องคืนงบประมาณเบื้องต้น จำนวน 369 ล้านบาทให้กับสำนักงบประมาณ เนื่องจากไม่สามารถ “เปิดดีล” ลงนามผูกพัน ในการจัดซื้อเครื่องบิน เอฟ-35 เอ จากสหรัฐอเมริกา ได้ตามที่วางแผนไว้
อย่างไรก็ตามแม้เหตุผลในการล้มดีล เอฟ-35 จะเป็นสิ่งที่ยังคลุมเครือ แต่ลึกลงไปแล้วมันอาจชัดเจนในความเห็นของนักวิเคราะห์ด้านการเมืองและการทหารของไทยหลายคน ที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า
“หรือนี่คือสัญญาณแรก ที่สหรัฐอเมริกาส่งมายังประเทศไทยว่า หากคิดจะเป็นมิตรที่แนบแน่นกันเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ก็จงอย่าขัดขวางรัฐบาลพรรคก้าวไกล”
แต่หากยังดื้อดึง หรือใช้ “เนติสงคราม” เป็นเครื่องมือสกัดกั้น รัฐบาลใหม่ที่พรรคก้าวไกลมีความชอบธรรม ในการจัดตั้ง สหรัฐอเมริกาที่อยู่ไกลโพ้นทะเล ก็อาจจะส่งสัญญาณที่สองตามมา และอาจเป็นสัญญาณที่ชัดเจนกว่า การล้มดีลการจัดซื้อ เอฟ-35 ก็เป็นได้
-------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1