xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เตือนภัยออนไลน์ มิจฉาชีพสุดแสบโพสต์เฟซบุ๊กหลอกทำใบขับขี่โดยไม่ต้องสอบ สูญทั้งเงิน-ข้อมูลส่วนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ตร.เตือนภัยออนไลน์ มิจฉาชีพสุดแสบโพสต์เฟซบุ๊กหลอกทำใบขับขี่โดยไม่ต้องสอบ สูญทั้งเงินและข้อมูลส่วนตัว อีกรายหลอกลงทุนทิพย์ในแอปปลอม พร้อมแนะจุดสังเกตกลโกงจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

วันนี้ (16 พ.ค ) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เปิดเผยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7-13 พ.ค. 2566 มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3. คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4. คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5. คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงในช่วงนี้ คือ หลอกลวงให้โอนเงินทำใบขับขี่โดยไม่ต้องไปสอบที่ขนส่ง และหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันปลอม Wish Shop ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ เรื่องแรก มิจฉาชีพแอบอ้างว่าสามารถทำใบขับขี่ได้โดยไม่ต้องไปสอบที่ขนส่ง  คดีนี้ มิจฉาชีพโพสต์รับทำใบขับขี่ในเฟซบุ๊กโดยไม่ต้องไปสอบที่ขนส่ง มีหน้าม้าโพสต์รีวิวว่าสามารถทำได้ และได้รับใบขับขี่จริง ผู้เสียหายทักสอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายเพิ่มเป็นเพื่อนในไลน์ แล้วให้ส่งข้อมูลส่วนตัว ชื่อ ที่อยู่ รูปถ่าย และรูปบัตรประชาชน หน้า-หลัง พร้อมทั้งขอเก็บเงินล่วงหน้า ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้ก่อน ต่อมาผู้เสียหายติดต่อขอรับใบขับขี่  มิจฉาชีพอ้างว่ามีค่าเอกสาร ค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง ต้องโอนเงินเพิ่ม  สุดท้ายไม่ได้รับใบขับขี่ และสูญเสียเงินโดยมีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาเป็นจำนวนมาก

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า จุดสังเกตให้ตรวจสอบในเพจมีการกดถูกใจน้อยมาก มีการกดอีโมชันด้านลบ (โกรธ)  เป็นการทำใบขับขี่ในประเทศไทย แต่คนจัดการเพจส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ กรมการขนส่งไม่มีการทำใบอนุญาตขับขี่รถทุกประเภท โดยไม่ต้องมีการสอบ และไม่มีการทำใบอนุญาตขับขี่แบบออนไลน์ สำหรับวิธีป้องกัน ให้ตรวจสอบกฎเหล็กของเฟซบุ๊ก ดังนี้

1. เป็นบัญชีทางการ (Official) ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ (มีเครื่องหมาย ✔ หรือไม่) 

2. มีการกดอิโมชันด้านลบ (โกรธ) หรือไม่ 

3. เพจมีความโปร่งใสหรือไม่ โดยให้ตรวจสอบประวัติการสร้างเพจว่าสร้างมานานหรือไม่ มีการเปลี่ยนชื่อบ่อยหรือไม่คนจัดการเพจอยู่ที่ใด สอดคล้องกับเพจหรือไม่ในข้อมูลเกี่ยวกับมีการสร้างยอดผู้ติดตามให้เห็นว่ามีจำนวนมากหรือไม่ หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามสำนักงานขนส่งทุกสาขาหรือ โทร. Call Center 1584

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างว่า สามารถทำธุรกรรมกับกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กโดยเฉพาะรับทำหรือต่ออายุใบขับขี่รถยนต์  โดยจะนำรูปตราสัญลักษณ์ ขบ. มาใส่ในรูปโฟรไฟล์  หรือนำรูปภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้าง  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยจะโฆษณาหลอกลวงว่าสามารถออกใบขับขี่หรือต่ออายุใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง หรือใช้คำว่า “รับทำใบขับขี่โดยไม่ต้องสอบ ไม่ต้องอบรม รอรับได้เลย” และมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 1,000-6,000 บาท เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปแล้วจะเรียกร้องให้โอนเงินเพิ่มอีกและเงียบหายไป ขบ. จึงขอย้ำเตือนว่าหย่าหลงเชื่อหรือทำธุรกรรมกับเพจเหล่านี้โดยเด็ดขาด นอกจากจะทำให้สูญเสียทรัพย์สินและเอกสารส่วนบุคคลแล้ว  ยังเสี่ยงที่จะได้รับใบขับขี่ปลอมและเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบเพจ Facebook ปลอมให้กดรายงานบัญชีหรือเพจ Facebook (report) หรือสามารถแจ้งเบาะแสมาได้โดยตรง หรือ โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า เตือนภัยเรื่องที่ 2 มิจฉาชีพชักชวนให้ลงทุนในแอปพลิเคชันปลอม Wish Shop โดยโฆษณาทางเฟซบุ๊กชักชวนให้ลงทุนโดยใช้รูปและโปรไฟล์ที่น่าเชื่อถือ ผู้เสียหายหลงเชื่อทักสอบถาม มิจฉาชีพคนที่ 1 จึงให้แอดไลน์ มิจฉาชีพคนที่ 2 เพื่อแจ้งรายละเอียดการทำงาน โดยให้ผู้เสียหายโหลดแอปพลิเคชัน Wish ปลอม(นอก Play Store) สมัครสมาชิก และตั้งชื่อร้าน โดยให้ทำตามขั้นตอน เริ่มจากลงทะเบียน เลือกสินค้ามาขาย โดยมีเงื่อนไขและจำนวนที่จะทำให้ผ่านภารกิจ และต้องเติมเงินก่อนขายทุกครั้ง ช่วงแรกให้สั่งซื้อสินค้าครั้งละ 3 ชิ้น และสามารถถอนเงินทุนและกำไรคืนได้  แต่ช่วงหลังจะมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา คือ สินค้าต้องถึงมือลูกค้า และต้องเคลียร์สินค้าทุกชิ้นก่อน จึงจะได้ถอนเงินได้ ผู้เสียหายเริ่มติดปัญหา เช่น ออร์เดอร์ของลูกค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องเติมเงินเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้า หรือ มีจำนวนออร์เดอร์ใหม่เข้ามาจำนวนมาก หรือ สินค้าไปไม่ถึงมือลูกค้า ผู้เสียหายจึงขอปิดร้าน แต่มิจฉาชีพอ้างว่ายังมีออร์เดอร์ค้างอยู่ และถ้าจะปิดหรือถอนเงินจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 1.ค่าปิดร้าน 2.กรณีถอนเงิน ต้องจ่ายภาษี 7% 3.ค่าธรรมเนียมโอน 5% 4.ค่าบริการโอนเงิน 15% และ 5.อ้างว่าเงินสะสมในร้านมีจำนวนมากเกิน 2 ล้าน ถูกจำกัดโดยระบบ ต้องโอนยอด 30% เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นบัญชีของผู้เสียหาย โดยจะหลอกให้โอนเงินทีละขั้นตอน หากไม่ทันเวลาจะถูกหัก 10% ของยอดเงิน เมื่อโอนเงินแล้ว จึงจะหลอกขั้นตอนต่อไป และทุกครั้งจะหลอกว่าจะโอนเงินคืนทั้งหมด

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า จุดสังเกตการเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง ดังนี้ ของปลอมใช้โลโก้แบบเก่า นำโลโก้ Shoppee ผสมใน App Wish และเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ ใช้โทนสีส้มเป็นหลักคล้ายกับแอป Shopee และใช้ไอคอนเมนูจากแหล่งอื่น ของจริงใช้โลโก้ wish เท่านั้น ใช้โทนสีฟ้า-เขียว-เหลือง เปลี่ยนรูปแบบโลโก้และไอคอนเป็นแบบใหม่ ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น Wish ยังไม่รองรับการซื้อขายสินค้าในประเทศไทย Wish เป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่นิยมใช้ไลน์ ในการสนทนาแบบ ข้อความด่วน ฉะนั้นในไลน์ จึงไม่มีบัญชี Wish ที่เป็นทางการ เนื้อหาภาษาไทยในแอป และฝ่ายบริการลูกค้า การสนทนาทางไลน์ ใช้การแปลคำจากภาษาต่างประเทศ

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีป้องกัน ให้ศึกษากลโกงของมิจฉาชีพจากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ตรวจสอบกับทางบริษัทหรือร้านค้าทุกครั้งก่อนทำภารกิจใดๆ การทำงานหรือทำภารกิจใดๆ ที่ต้องมีการโอนเงินให้ก่อน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นกลโกงของมิจฉาชีพ หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิ้งก์หรือข้อความที่มีคนส่งให้

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องที่ 3 มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลอกโอนเงิน โดยส่ง SMS แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจดเลขมิเตอร์เกิน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์กับมิจฉาชีพ ซึ่งใช้ชื่อสำนักงานการไฟฟ้า และอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงแล้วส่งลิงก์มาให้หลงเชื่อและกดลิงก์ เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย        

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า จุดสังเกต การเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง ดังนี้ ของปลอม เว็บไซต์ชื่อ www.xk-line.cc นามสกุลของโดเมนไม่ถูกต้อง ไลน์เป็นบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทรหากันได้ ใช้โลโก้ กฟน. เหมือนของจริง แต่ใช้ชื่อบัญชี “สำนักงานการไฟฟ้า” ส่วนของจริงเว็บไซต์ชื่อ www.mea.or.th นามสกุลของโดเมนคือ .or.th ไลน์เป็นบัญชีทางการไม่สามารถโทรหากันได้ ใช้ชื่อบัญชี “การไฟฟ้านครหลวง” สำหรับวิธีป้องกัน มีดังนี้ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิ้งก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับการไฟฟ้านครหลวง MEA call center โทร. 1130 โดยตรง กรณีมีการส่งลิ้งก์แปลกปลอมให้ตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.who.is หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store  เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิ้งก์หรือข้อความที่มีคนส่งให้

พล.ต.อ.สมพงษ์  กล่าวว่า การระงับการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  พ.ศ.2566 ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 – 5 พ.ค.66 มีรายละเอียด ดังนี้ มี Case ID ในความรับผิดชอบ 30,439 เคส พงส.แจ้งธนาคารทราบถึงการรับคำร้องทุกข์ 988 เคส พงส.แจ้งให้อายัดการทำธุรกรรม/อายัดบัญชี 762 เคส อายัด/ระงับบัญชี 16,596 บัญชี อายัดเงินทั้งหมด 685,310,290 บาท สามารถอายัดทัน 92,132,049 บาท ส่วนการดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี   พ.ศ.2566 (บัญชีม้า) ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 - 17 เม.ย.66 มี ดังนี้ ออกหมายจับ จำนวน 264 คดี/268 หมาย จับกุมจำนวน 170 คดี/137 คน เจ้าของไปขอปิดบัญชีจำนวน  118 บัญชี

จากการเตือนภัยออนไลน์มิจฉาชีพแอบอ้างธนาคารส่ง SMS แล้วแนบลิ้งก์ให้กดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับสัปดาห์นี้มิจฉาชีพแอบแฝงส่งข้อความ (SMS) โดยใช้ช่องทางเดียวกับหน่วยงานทางการเงิน หรือหน่วยงานที่มีส่วนติดต่อกับประชาชนและแนบลิ้งก์ให้กด เพื่อหลอกให้โอนเงิน กรณีนี้ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการแจ้งเตือนจากสมาคมธนาคารไทยว่า ปัจจุบันธนาคาร หน่วยงานทางการเงิน งดการส่งลิ้งก์ทุกประเภท ผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิ้งก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีการส่งลิ้งก์ให้กด เป็น SMS ที่มาจากมิจฉาชีพอย่างแน่นอน กรณีสงสัยว่าจะถูกมิจฉาชีพหลอกให้โทรสายด่วนของแต่ละธนาคารได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยประชาชนที่ต้องการทำใบขับขี่ขอให้ตระหนักว่าการทำใบขับขี่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสำนักงานขนส่ง  อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ และหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดจากสำนักงานขนส่งในพื้นที่ หรือโทร Call Center 1584 กรณีต้องการลงทุนขอให้ตระหนักว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาวิธีการลงทุนอย่างละเอียด  และควรปรึกษาจากผู้ให้บริการด้านการลงทุนที่ถูกกฎหมาย  และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เวบไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทร.สายด่วน 1441


กำลังโหลดความคิดเห็น