xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยวัยรุ่น หวั่นตกเป็นเหยื่อ ซื้อ “ไอเทมเกม-ปั๊มแรงค์” ชี้ราคาถูก ไม่มีจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



โฆษก บช.สอท. เตือนภัย หวั่นเยาวชนตกเป็นเหยื่อซื้อไอเทมเกมออนไลน์-ปั๊มแรงค์ หลังระบาดถูกแฮก ชี้ ราคาถูก ไม่มีจริง
วันนี้ (7 มี.ค.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีการซื้อสินค้า หรือไอเทมเกมออนไลน์ ดังต่อไปนี้

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้เสียหายหลายรายถูกผู้ต้องหาหลอกลวงประกาศโฆษณาขายสินค้าประเภทไอเทมเกมออนไลน์ หรือสกุลเงินในเกมออนไลน์ผ่านเพจในเฟซบุ๊ก โดยเสนอขายในราคาถูกกว่าราคาของบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเกมดังกล่าว เช่น สกุลเงินในเกม 1 แพ็ก มี 7,200 เหรียญ ราคา 3,700 บาท แต่ผู้ต้องหาขายในราคาเพียง 2,050 บาท

นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังอ้างว่าปลอดภัย ไม่มีการขอ Refund หรือยกเลิกการซื้อแน่นอน (หมายถึงการขอคืนเงินที่ชำระค่าสินค้าภายในเกมในภายหลัง) เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้ว ปรากฏว่า ได้รับสกุลเงินในเกมจริง ต่อมาผู้เสียหายได้รับอีเมลจากบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเกมว่า มีการขอยกเลิกการซื้อสกุลเงินภายในเกม เนื่องจากได้ตรวจสอบพบธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง หรือธุรกรรมเท็จ ส่งผลให้ไอเทม หรือสกุลเงินในเกมของผู้เสียหายสูญหายไป และไม่ได้รับเงินที่ซื้อสกุลเงินกลับคืนแต่อย่างใด ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

กระทั่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ทำการจับกุมตัวผู้ต้องหา 2 ราย ตามหมายจับศาลอาญา โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ” พร้อมตรวจยึดของกลาง นำตัวส่ง พงส.ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงที่แฝงมากับเกมออนไลน์ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงขายไอเทมที่ไม่มีอยู่จริง การหลอกลวงจ้างให้เล่นเกม หรือที่เรียกว่า การปั๊มแรงค์ การหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น นำไปเปิดบัญชีธนาคาร ไปแฮกบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังปรากฏว่า มีบุตรหลานนำไปสร้างเรื่องหลอกลวงผู้ปกครองว่าถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงิน แต่แท้จริงแล้วนำเงินผู้ปกครองไปใช้ซื้อไอเทมภายในเกม ไปสนับสนุนช่องยูทูบเบอร์เกมออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. การซื้อสินค้า หรือไอเทมภายในเกมออนไลน์ต่างๆ ควรซื้อผ่านช่องทางของบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเกมโดยตรง จะมีความปลอดภัยมากกว่าซื้อผ่านตัวกลาง
2. หลีกเลี่ยงการเล่นเกมออนไลน์ ที่ต้องซื้อสินค้า หรือไอเทมภายในเกมกับบุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่เคยพบหน้ามาก่อน
3. หากจำเป็นต้องซื้อ ควรซื้อกับบุคคล หรือร้านค้าออนไลน์ หรือเพจ ที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น โดยตรวจสอบว่าร้านค้าเปิดมานานแล้วหรือไม่ หรือมีผู้ซื้อรายอื่นให้เครดิตว่าได้รับสินค้าจริง แต่ยังต้องระมัดระวังหน้าม้า หรืออวตารปลอม ที่มาให้เครดิตปลอม
4. ตรวจสอบ ชื่อบุคคล ชื่อร้านค้า ชื่อบัญชีธนาคาร ก่อนที่จะทำธุรกรรมการเงินว่ามีประวัติการโกงหรือไม่
5. บัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ตรงกับชื่อบุคคลที่โอนไปหรือไม่ ควรขอตรวจสอบบัตรประชาชนกับบัญชีธนาคารที่รับโอนก่อน
6. หากสินค้า หรือไอเทมเกมดังกล่าวมีมูลค่าสูง ผู้ซื้อควรนัดพบผู้ขายในสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อทำการซื้อขายต่อหน้า
7. ระวังคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ที่จะเข้ามาทักทาย อาจจะเป็นมิจฉาชีพเข้ามาหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หมายเลขบัญชีธนาคาร หรือหลอกลวงให้โอนเงิน รวมถึงการนัดเจอเพื่อหลอกไปกระทำอนาจาร การชักชวนให้เล่นการพนัน การข่มขู่ เป็นต้น
8. จัดเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่น หลักฐานการพูดคุย การโอนเงิน เลขบัญชีธนาคารที่ทำธุรกรรม ไว้เพื่อดำเนินคดีหากถูกหลอกลวง

ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com


กำลังโหลดความคิดเห็น