xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยอย่าหลงเชื่อกดลิงก์ดาวน์โหลดแอป “หาคู่-ดูไลฟ์-ดูคลิป” ทำถูกแฮกข้อมูล-ดูดเงินไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGROnline - ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย อย่าหลงกลมิจฉาชีพ หลอกกดลิงก์โหลดแอปพลิเคชัน “หาคู่-ดูไลฟ์-ดูคลิป” ฝังมัลแวร์ ถูกแฮก ควบคุมทางไกลถอนเงินจากบัญชี

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บช.สอท. แจ้งว่า ถูกมิจฉาชีพแฮกบัญชีธนาคารในโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินออกไปจนหมดบัญชี โดยผู้เสียหายคาดว่าเกิดจากการใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ

วันนี้ (18 ม.ค.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอเรียนชี้แจงกรณี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บช.สอท. แจ้งว่า ถูกมิจฉาชีพแฮกบัญชีธนาคารในโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินออกไปจนหมดบัญชี โดยผู้เสียหายคาดว่าเกิดจากการใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ดังต่อไปนี้

กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ได้ซักถามผู้เสียหาย และทำการตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายพบว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพสร้างกลอุบายหลอกลวงให้กดลิงก์ ดาวน์โหลด หรือติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันที่มีไว้สำหรับการหาคู่, แอปพลิเคชันดูไลฟ์สด ดูภาพลามกอนาจาร และแอปพลิเคชันพูดคุยยอดนิยม เช่น Viber, Sweet meet, Bumble, Snapchat, Kakao Talk และ Flower Dating เป็นต้น โดยเมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวจะขอสิทธิการเข้าถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (permission) หลายรายการ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามา และควบคุมหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อเมื่อใดก็ได้ โดยจะทิ้งระยะเวลาให้เหยื่อตายใจ ระหว่างนี้มิจฉาชีพจะสังเกตพฤติกรรมของเหยื่อ เช่น ใช้ธนาคารใด มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ และจดจำรหัสผ่านจากที่เหยื่อกดเข้าระบบของแอปพลิเคชันธนาคาร กระทั่งเวลาผ่านไปจนเหยื่อเผลอ เมื่อได้โอกาสมิจฉาชีพจะเชื่อมต่อแล้วโอนเงินออกจากบัญชีไป นอกจากนี้แล้ว ยังพบการเข้าถึงเว็บไซต์อันตรายหลายรายการอีกด้วย ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องการใช้สายชาร์จโทรศัพท์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักแสวงหาวิธีการใหม่ๆ หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน เพิ่มความซับซ้อน และเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ทำให้ยังมีประชาชนหลายรายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ การหลอกลวงในลักษณะนี้มิจฉาชีพจะไม่ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ แต่จะใช้ความสมัครใจของเหยื่อในการติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันดังกล่าวแทน เพราะฉะนั้นการใช้งาน การเข้าถึงบริการบนสื่อสังคมออนไลน์ ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ มีสติ ระมัดระวังอยู่เสมอ รวมไปถึงการแจ้งเตือนไปยังคนใกล้ชิด หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


​ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกัน ดังต่อไปนี้


1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ


2. ไม่ดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม โดยหากต้องการใช้งานขอให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น


3. ระมัดระวังแอปพลิเคชันที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลอัลบั้มรูปภาพ, ไมโครโฟน, ตำแหน่งที่ตั้ง, หมายเลขโทรศัพท์, รายชื่อผู้ติดต่อ เป็นต้น


4. หากท่านตกเป็นเหยื่อ เผลอติดตั้งแอปพลิเคชันแล้ว ให้รีบเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงถอดซิมโทรศัพท์ออก จากนั้นเข้าไปติดต่อกับศูนย์บริการโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่


5. ไม่ใช้อุปกรณ์ใดๆ ในจุดให้บริการสาธารณะ หรือจากคนแปลกหน้า


6. ไม่ควรอนุญาตให้เว็บไซต์ หรือเบราว์เซอร์ (web browser) จดจำรหัสผ่านส่วนตัว หรืออนุญาตให้เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ


7. ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ แล้วเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่มีความเป็นส่วนตัว เช่น อีเมล, ธุรกรรมทางการเงิน, การเทรดหุ้น เป็นต้น


8. ไม่ควรเข้าใช้เว็บไซต์ที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น เว็บพนัน, เว็บลามกอนาจาร รวมถึงการแอดไลน์ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น