xs
xsm
sm
md
lg

โอละพ่อสายชาร์จดูดเงิน ที่แท้ถูกติดตั้งแอปฯ หาคู่ปลอม รองต่อเตือนอย่าหลงกลมิจฉาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอง ผบ.ตร.เผยตรวจสอบกรณีสายชาร์จดูดเงิน พบติดตั้งแอปฯ หาคู่ของปลอม Sweet Meet ลงในมือถือ ไม่เกี่ยวกับสายชาร์จดูดข้อมูลตามที่ปรากฏเป็นข่าว เตือนอย่าหลงกลมิจฉาชีพโหลดแอปฯ ดูไลฟ์วิว ด้านแบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทยชี้มาจากมัลแวร์ มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูล ควบคุมเครื่องระยะไกลได้ แม้ช่วงที่เหยื่อไม่แตะมือถือ ขอความร่วมมือเพิ่มความระวัง

วันนี้ (18 ม.ค.) จากกรณีที่อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังรายหนึ่งออกมาเปิดเผยเรื่องสายชาร์จดูดเงินที่ชื่อว่า O.MG Cable อ้างว่ามีทีมแฮกเกอร์ดัดแปลงข้างในให้สามารถดูดข้อมูลจากเครื่องมือถือของเหยื่อได้ ถ้าเหยื่อพิมพ์ข้อมูล รหัสผ่านก็จะถูกส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สายไปเข้าคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพได้ ปัจจุบันมีรุ่นใหม่ๆ ออกมาขายหลายชนิด มีแบบ USB-C ด้วย และวิธีการก็แนบเนียนขึ้น ฝากพ่อแม่พี่น้องตอนนี้มิจฉาชีพมาทุกรูปแบบ สายชาร์จของมิจฉาชีพก็มีขายทั่วไปในท้องตลาด หน้าตาภายนอกแยกจากสายชาร์จไม่ออก ดังนั้นเวลาจะชาร์จมือถือ ใช้สายใครสายมัน อย่ายืมสายคนแปลกหน้ามาใช้

ต่อมาพบว่ามีผู้เสียหาย​หลายรายเผยข้อมูลผ่านโซเชียลฯ ว่าโทรศัพท์มือถือก็โอนเงินออกเอง​ เสียหายมูลค่าหลักแสนบาท หนึ่งในนั้นระบุว่า นอนเล่นเกมข้ามคืน เมื่อเห็นว่าโทรศัพท์แบตฯ จะหมด จึงได้ชาร์จแบตฯ โทรศัพท์มือถือเอาไว้​ก่อนนอนหลับไป ตื่นเช้าขึ้นมาก็ไม่ได้ไปหยิบไปจับโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวเนื่องจากมีโทรศัพท์ 2 เครื่อง เครื่องที่เกิดเหตุเป็นระบบ Android เอาไว้เล่นเกม​ ส่วนเครื่องที่ใช้สื่อสารคือไอโฟน ระบบ​ iOS จึงใช้แต่โทรศัพท์มือถือ​ไอโฟน และไม่ได้ไปจับมือถือเครื่องที่เกิดเหตุเลย​ กระทั่งสังเกตเห็นหน้าจอมือถือ​ปลดล็อกเองได้ พอไปจับดูที่โทรศัพท์มือถือปรากฏว่าเครื่องรวน​หน้าช็อต​ๆ​ และเห็นข้อความส่งเข้ามาว่าได้โอนเงินไปกว่า 1 แสนบาท

เรื่องนี้มีชาวเน็ตแห่แชร์แห่คอมเมนต์ สร้างความแตกตื่นในหมู่ประชาชน บางคนเริ่มออกมาหาวิธีป้องกันกันเองเท่าที่ตัวเองจะทำกันได้ เช่น หันมาเก็บเงินสดแทนฝากเงินในบัญชี ไม่เอาเงินหมุนเวียนไว้ในบัญชีนานและจำนวนมากเหมือนแต่ก่อน เพราะไม่มั่นใจว่าฝากเงินไว้กับธนาคารจะปลอดภัยจริง อีกทั้งยังใช้สายชาร์จของตัวเองและซื้อจากศูนย์บริการโดยตรง

ล่าสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งข้อความไลน์ถึงผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) โดยเพจ "หมายจับกับบรรจง" ของนายบรรจง ชีวมงคลกานต์ ผู้ประกาศข่าวเวิร์คพอยต์ นำมาเผยแพร่ต่อ ระบุว่า "จากการตรวจสอบเครื่องของผู้เสียหายพบว่ามีการติดตั้งแอปฯ หาคู่ของปลอมที่ชื่อว่า Sweet Meet ลงในมือถือ สอดคล้องกับประวัติในการเข้าไปในเว็บไซต์เพื่อติดตั้งแอปฯ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ถูกดูดเงิน ไม่เกี่ยวกับสายชาร์จดูดข้อมูลตามที่ปรากฏเป็นข่าว สิ่งที่ต้องเร่งเตือนประชาชนคือ อย่าหลงกลมิจฉาชีพเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯ เพื่อเข้าไปดูไลฟ์วิว หากจะติดตั้งแอปฯ จะต้องติดตั้งจาก Google Play เท่านั้น"






ด้าน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ประกาศแจ้งเตือนภัยมือถือแอนดรอยด์ โดยมีวิธีการตรวจสอบว่ามือถือถูกติดตั้งแอปฯ รีโมตดูดเงินหรือไม่ โดยกดเลือกที่เมนูการตั้งค่า (รูปฟันเฟือง) เลือก "แอป" แล้วกดที่จุด 3 จุด มุมขวาบน เลือกเมนูย่อย "การเข้าถึงพิเศษ" หากไม่สามารถเปิดดูเมนูดังกล่าวได้ โดยหน้าจอจะเด้งออกไปที่หน้าหลักทันที แสดงว่ามือถือเครื่องนั้นถูกฝังแอปฯ รีโมตดูดเงินเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ให้ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันที แล้วสำรองข้อมูลที่สำคัญ จากนั้นล้างเครื่อง โดยรีเซตเครื่องกลับสู่ค่าเริ่มต้นที่มาจากโรงงาน


ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงกรณีผู้เสียหายร้องเรียนจากเหตุการใช้งานสายชาร์จปลอมแล้วถูกดูดข้อมูลและโอนเงินออกจากบัญชี ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้เกิดจากการใช้งานสายชาร์จปลอม แต่เกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง ได้แก่ ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และอีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ, ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store เช่น Play Store หรือ App Store เท่านั้น, อัปเดต Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น