ตำรวจร่วมกับสำนักงานสลากฯ ดีเอสไอ ปปง. และ สคบ. เข้าค้น“กองสลากพลัส” เก็บรวบรวมหลักฐาน หลังถูกร้องเรียนขายสลากเกินราคา-เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ด้าน ผอ.สำนักงานสลากฯ เผย เตรียมตัดโควตารายย่อยที่ขายต่อให้กองสลากพลัส ถามหน่วยงานคุมสื่อปล่อยให้โฆษณาได้อย่างไร ย้ำ เงินรางวัลไม่เสียภาษีเว้นให้เฉพาะคนไปขึ้นเงินเอง
วันนี้ (16 ม.ค.) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ฐายุฎฐ์ จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.นภันส์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้แทนสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสรรพากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าตรวจค้น บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด (กองสลากพลัส) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบการกระทำความผิดฯ อาคารเอสเอสพี ทาวเวอร์ 1 เลขที่ 555/57 ซอยสุขุมวิท 63 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม.
พล.ต.ท.ประจวบ เปิดเผยว่า การตรวจค้นวันนี้ เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มาแจ้งความกับตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ ปคบ. ว่า พบ กองสลากพลัส มีพฤติการณ์ขายสลากเกินราคาและมีจำนวนสลากมาก คาดว่า เกิดจากการกว้านซื้อ เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ซึ่งทางสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลยืนยันว่ากองสลากพลัสไม่ได้รับสิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงมีการขอหมายค้นเข้าตรวจสอบในวันนี้
นอกจากนี้ ยังให้ทาง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินในการดำเนินธุรกิจด้วย รวมถึงเส้นทางการเงินที่ก่อนหน้านี้ดีเอสไอพบว่า มีเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนการที่กองสลากพลัส อ้างว่า เป็นการจำหน่ายสลากราคา 80 บาท แต่คิดค่าบริการเพิ่ม (ค่าสนับสนุนเว็บไซต์) ต้องตรวจสอบด้วยเช่นกัน ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายฐานใดบ้าง
ด้าน พ.ท.หนุน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการไปแจ้งความกับ ตำรวจ ปคบ. ให้ตรวจสอบแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มประมาณ 7-8 แพลตฟอร์ม เนื่องจาก พบว่าเป็นการกว้านซื้อสลากที่ระบุว่ารับซื้อมาเกินกว่า 80 บาท แล้วนำมาขาย ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริง ถ้าซื้อมาในราคาเกิน 80 บาท ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาขายในราคา 80 บาท จึงอาจเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองสลากพลัส ไม่เคยให้สิทธิในการจำหน่ายสลาก และการขายสลากของแพลตฟอร์มดังกล่าว ก็ไม่สามารถควบคุมผู้ซื้อที่อายุต่ำกว่า 20 ปีได้ ส่วนนี้ก็เข้าข่ายผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน ต่างจากแอปพลิเคชันเป๋าตังของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ให้ยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนก่อนซื้อ และที่ผ่านมา ทางสำนักงานฯ ก็ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งเครือข่ายเยาวชนเรื่องการขายสลากให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
พ.ท.หนุน กล่าวอีกว่า สำนักงานสลากจะตรวจสอบสลากกินแบ่ง 11 ล้านใบ ที่ทาง “กองสลากพลัส” กว้านซื้อมาจำหน่ายในงวดวันที่ 16 ม.ค. 66 เพื่อดูว่าซื้อมาจากผู้ค้ารายย่อยรายใดบ้าง หลังจากนั้นจะตัดโควตาของผู้ค้ารายย่อยทุกรายที่ขายสลากฯ ต่อให้กองสลากพลัส ตั้งแต่งวดหน้าเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นการทำผิดเงื่อนไขของสำนักงานสลากฯ ที่ห้ามขายส่ง หลังจากนั้นจะทำการเปิดรับผู้ค้ารายย่อยรายใหม่แทน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการโฆษณาทางสื่อต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเคยมีมติ ครม.เมื่อปี 2551 ที่ห้ามโฆษณาจูงใจให้ประชาชนซื้อสลากกินแบ่งฯ เนื่องจากไม่ต้องการส่งเสริมการพนัน แต่ปรากฏว่ายังมีการโฆษณาของกองสลากพลัส โดยทางสำนักงานสลากฯ ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดังกล่าวแล้ว และขอถามว่าอนุญาตได้อย่างไร
พ.ท.หนุน ยังกล่าวถึงกรณีที่ทางกแงสลากพลัสไปรับรางวัลแทนลูกค้าและจ่ายให้เต็มจำนวนเงินรางวัลโดยไม่หักภาษี ว่า กรณีน่าจะผิดเช่นกัน เพราะเงินรางวัลที่ไม่ต้องแสดงแบบยื่นภาษีนั้นผู้ถูกรางวัลต้องเอาบัตรประชาชนไปยื่นรับจากสำนักงานสลากฯ ด้วยตนเอง ผู้ที่ไม่นำบัตรประชาชนมารับเองเราไม่ถือเป้นเงินรางวัลเพราะ กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า 60% ของยอดขายสลากฯ ทั้งหมดนำมาเป็นเงินรางวัล ฉะนั้น ใน 1 งวด สลากมี 100 ล้านใบ จำหน่ายได้ 8,000 ล้านบาท เงินรางวัลก็ต้องมี 4,800 ล้านบาทต่องวดเท่านั้น นี่คือ จำนวนเงินที่จะไม่ต้องแสดงแบบยื่นภาษี และจะเว้นให้้เฉพาะคนที่เอาบัตรประชาชนมาขึ้นเองเท่านั้น