ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง 30 ราย ร้องสภาทนายความช่วยเหลือ เหตุน้ำมันดิบรั่วอ่าวไทย ต้นปี 2565 กระทบระบบนิเวศและสูญเสียรายได้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (5 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง จ.ระยอง ประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความ กรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล บริเวณหุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานการประมงในอ่าวจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศและรายได้จากการประกอบอาชีพ
โดยมี ดร.วิเชียร ซุปไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการ สิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ เป็นผู้รับเรื่อง
ว่าที่ร้อยตรี สมชาย ระบุว่า เหตุการณ์กรณีบริษัทแห่งหนึ่งทำน้ำมันดิบรั่วไหลลงอ่าวระยอง ระหว่างขนถ่ายกลางทะเล เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 มากกว่า 4 แสนลิตร ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่อง จังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบมีน้ำมันดิบกระจายเป็นวงกว้าง ถูกพัดเข้าถ่ายฝั่ง จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า น้ำมันดิบแพร่ในทะเลกว้างกว่า 9 เท่า ของเกาะเสม็ด ทำให้ชาวบ้าน ชาวประมงได้ผลกระทบ ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่ทำมาหากิน ผลของน้ำมันดิบรั่วไหลและการใช้ สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ ทะเลตื้นทำให้สัตว์น้ำหลายประเภทหายไปจากบริเวณอ่าวระยอง ซึ่งปัจจุบันเรือประมง หลายประเภทต้องจอดนิ่งอยู่ท่าเรือ เนื่องจากเรือออกไปไม่มีสัตว์น้ำให้จับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งความขาดแคลนนี้ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่ นอกจากนี้ การประมงพื้นบ้านและเรือขนาดกลางที่หากิน ได้จากจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหล ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจซื้ออาหารทะเล ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและปรุงสำเร็จในจังหวัดระยอง ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้ ที่มาจากพื้นที่ปากน้ำระยองและเครือข่าย ต้องการที่จะยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันระหว่างบริษัทก่อมลพิษ กับประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบเพื่อให้ได้รับค่าเยียวยาที่เป็นธรรม เป็นการเรียกค่าชดเชยตามความเป็นจริงจากการสูญรายได้ที่ควรจะได้ โดยจากการได้รับความเสียหายในครั้งนี้กับทางบริษัทผู้ก่อเหตุยังมีการเยียวยาชดเชยให้ในจำนวนน้อย และระบุจะชดเชยจำกัดแค่เรือประมงที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นเป็นธรรมกับผู้ทำประมงพื้นบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบอื่น เกรงว่าจะมีการดึงเรื่องการชดเชยเยียวยาจนหมดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหาย
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งเป็นข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่ ว่า เมื่อการขนส่งขนถ่ายน้ำมันดิบทางทะเลเกิดการรั่วบ่อยครั้ง เหตุใดทางนิคมอุตสาหกรรม หรือ กรมเจ้าท่า ไม่หารือเปลี่ยนวิธีการขนส่งน้ำมันเป็นทางบกแทน
ด้าน นายวิเชียร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก แบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและต้องการเยียวยาเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประมงพื้นบ้าน จำนวนเรียกว่า 150 ล่า, กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ที่ขาดทุนจากการค้าขายสัตว์น้ำที่ซื้อต่อจากเรือประมงและขายไม่ออก จำนวนกว่า 50 คน และกลุ่มลูกจ้างเรือประมง จํานวนกว่า 50 คน จากนี้ทางสภาทนายจะมีการตั้งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบ รวมไปถึงผลกระทบด้านสุขภาพอีกด้วย ว่าการรั่วน้ำมันดิบส่งผลระยะสั้น ระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างไรหรือไม่
เบื้องต้นสภาทนายความได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายไว้ ดังนี้ 1. ใช้สิทธิในการเรียกร้องให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 และ 97
2. ดำเนินการให้ประชาชนผู้เสียหายตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากจะไม่เป็นการซ้ำซ้อนในการยื่นฟ้องคดีและเป็นการ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการดำเนินคดีที่ศาล
3. ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทางคดี (การไกล่เกลี่ยในคดีสิ่งแวดล้อม) ตามพระราชบัญญัติ ไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2562
4. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความรับผิดเพื่อละเมิด (มาตรา 420) ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขา เสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จ่าต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด (มาตรา 438) ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
5. แนวทางในการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 ระบุว่า แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอัน เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหาย ด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือ ค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น จะเกิดจากการกระทําโดยจงใจหรือประมาท เงินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นนั้นเกิดจาก (1) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม (2) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ (3) การกระทำหรือเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่ รับผิดชอบโดยตรงหรือทางอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น
ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตาม วรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย โดยคดีจะมีอายุความ 10 ปี
มาตรา 97 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป