xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก ตร.เตือนภัย SMS อนุมัติให้กู้เงิน กลับมาระบาด พร้อมแนะวิธีป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษก ตร.เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่ง SMS อนุมัติกู้เงิน หลอกเอาเงินค่าดำเนินการจากเหยื่อ กลับมาระบาดหนัก พร้อมแนะวิธีสังเกตและป้องกัน

วันนี้ (23 พ.ย.) ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยกรณี รองโฆษกรัฐบาล ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่ง SMS อนุมัติกู้เงิน ก่อนหน้านี้นั้น

​พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมายังสายด่วนไซเบอร์ 1441 ว่า พบพฤติการณ์คนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือ หน่วยงานภาครัฐ หรือ บริษัทที่จะให้เงินกู้ แล้วโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ส่งอีเมล หรือ ส่ง SMS หาเหยื่อโดยตรงว่ามีสิทธิได้รับสินเชื่อจากธนาคารพร้อมกับลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือ ให้แอดไลน์คุยกัน นอกจากไม่ได้เงินแล้ว ยังเสียเงินโดนหลอกเอาเงินประกัน หรือ เงินค่าดำเนินการจากเหยื่อ ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์เตือนภัยเป็นระยะ แต่พบว่า กลับมาระบาดหนักอีกในระยะนี้ มักอ้างกับกลุ่มบริษัทสินเชื่อภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง

พล.ต.ต.อาชยน กล่าวต่อว่า วิธีป้องกันตนเองต่อภัยโจรออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ในกรณีนี้ สามารถสังเกตุและป้องกันได้โดย
1. ขอข้อมูลเชิงลึกมากผิดปกติ เช่น เลขบัตรประชาชน, เลขบัตรเครดิต, เลขบัญชีธนาคาร, วันเดือนปีเกิด, รหัส ATM, Password รวมถึงรหัส OTP ในการทําธุรกรรม ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆไม่ขอข้อมูลเชิงลึกมากขนาดนี้
2. SMS ข้อความแจ้งเตือน เพื่อให้อัปเดต หรือ ให้เปลี่ยนรหัสทันที พร้อม ลิงก์ เมื่อคลิก ลิงก์ จะปรากฏหน้าเว็บไซต์ที่ให้กรอก Username/Password ในหน้าแรก ซึ่งผิดปกติ
3. ถ้าคลิกเข้าเว็บไซต์ ลิงก์ที่พาไปมักมีชื่อแปลกๆ พยายามเลียนแบบชื่อเว็บไซต์จริงของธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อ ใช้ภาพโลโก้ มาสร้างโปรไฟล์ ให้เหมือนจริง แม้กระทั่งข้อความส่งไปจะเป็นภาษาทางการเงินของทางธนาคารต่างๆ เพื่อให้ผู้เหยื่อสับสน และหลงเชื่อว่าเป็นข้อความจากธนาคารจริง ควรตรวจสอบตัวสะกดลิงค์เว็บไซต์ต่างๆ ในช่องเว็บเบราเซอร์ ว่าถูกต้องตรงตามจริง
4. ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้
5. ไม่รู้ว่าผู้ส่งคือใคร เมื่อได้รับ SMS แปลกๆ ที่ส่งมาชวนกู้เงิน อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล ควรเช็คให้ชัวร์ก่อน จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง
6.การติดต่อจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้ทุกครั้ง ควรตรวจสอบจากเบอร์กลางของหน่วยงานนั้นๆ เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตส่วนใหญ่จะไม่ทักประชาชนมาในลักษณะนี้ หากยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ผู้ให้กู้ในระบบหรือเปล่า ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ ดังนี้
ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ที่ https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck
(phone) โทร. 1213
กระทรวงการคลังได้ที่ http://164.115.61.50/picofinance/public/
(phone) โทร. 1359
ศึกษารายละเอียดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ นาโนไฟแนนซ์ และบัตรเครดิตได้ที่ https://bit.ly/3cB7vNd
หากได้รับ sms ลักษณะนี้สามารถโทรแจ้งศูนย์เครือข่ายมือถือได้เลย AIS หมายเลข 1185 TRUE หมายเลข 9777 และ DTAC  หมายเลข 1678

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ SMS อนุมัติให้กู้เงิน ซึ่งปัจจุบันสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ PCT มีการเตือนภัยพี่น้องประชาชน รูปแบบกลโกงของคนร้ายรวมทั้งสิ้น 18 วิธี หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น