“ชัยวุฒิ” เตรียมเสนอธนาคารปรับปรุงระบบ “โมบายแบงกิ้ง” ป้องกันประชาชนโดนหลอกดูดเงิน เผย มีผู้เสียหายถูกหลอกแจ้งความแล้วกว่าแสนราย มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (7 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคณานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่มิจฉาชีพมีการเปลี่ยนรูปแบบ ว่า จะต้องกวดขัน และเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามที่มีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามา เรามีการเปิดช่องทางให้แจ้งความทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงปัจจุบันมีคดีประมาณแสนกว่าคดี เสียหายประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยมีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด นำคนผิดมาลงโทษ รวมถึงการเพิ่มมาตรการป้องกันการโอนเงินไปยังคนร้ายผ่านบัญชีม้า ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดียาก เพราะจะเจอแต่บัญชีนอมินี ไม่เจอบัญชีคนร้ายตัวจริง รวมถึงมีการโอนเงินไปยังต่างประเทศทำให้ติดตามได้ยาก จึงจะต้องมีการกำหนดมาตรการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการป้องกันการหลอกลวง โดยใช้ระบบป้องกันอัตโนมัติ ถ้าเห็นว่ามีพฤติกรรมผิดปกติในการโอนเงินไปต่างประเทศไปต่างประเทศหรือโอนเงินจำนวนมากๆ บ่อยๆ จึงอยากจะให้มีมาตรการหยุดการโอนเงิน หรือหยุดบัญชีม้าไม่ให้ทำงาน
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า และวิธีป้องกันสุดท้ายคือการแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบต่างๆ ก่อน หากมีการโอนเงินจำนวนมากที่ผิดปกติควรจะมีการแจ้งเตือนประชาชน เพื่อยืนยันว่า ใช่เจ้าของบัญชีหรือไม่ หรือ ระบบโมบายแบงกิ้งที่โดนรีโมตควบคุมเครื่องให้โอนเงิน โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง จะหารือให้ธนาคารทุกแห่งออกแบบระบบการป้องกันการถูกดูดข้อมูลหรือฟิตชิ่ง ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ธนาคารทุกแห่งจะต้องไปปรับปรุงระบบ
เมื่อถามว่า กังวลว่า อาจจะมีข้อกฎหมายไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในการป้องกันนั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ทางกฎหมายไม่ใช่ประเด็น มันเป็นเรื่องเทคโนโลยี และเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะต้องอัปเดตระบบข้อมูลให้มีระบบไซเบอร์ป้องกันความปลอดภัย เพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนโดนดูดเงิน คนจะไม่กล้าใช้ระบบโมบายแบงกิ้ง และจะทำให้ส่งผลกระทบทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาในต่างประเทศก็ใช้วิธีการปรับปรุงระบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์เข้ามาช่วยดู ที่สำคัญ สื่อมวลชนจะต้องช่วยประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารอย่าไปหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพที่บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วให้เอาเงินไปตรวจสอบหรือหลอกให้กดลิงก์ต่างๆ และหลอกดูดเงินออกไป