xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.พิจารณาช่วยเหลือครอบครัวครูพร หลังลูกในครรภ์ไม่เข้าเงื่อนไขเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “สมศักดิ์” เร่งช่วยครอบครัวครูพรกับลูกในครรภ์ 8 เดือน เหตุ จ.หนองบัวลำภู หลังลูกไม่เข้าเกณฑ์เยียวยา สั่ง “กรมคุ้มครองสิทธิฯ” หาช่องทางอื่นบรรเทาทุกข์

วันนี้ (7 พ.ย.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี สามีครูพร ผู้เสียชีวิตพร้อมลูกในครรภ์ จากเหตุสะเทือนขวัญ จ.หนองบัวลำภู เรียกร้องความเป็นธรรม หลังลูกอายุครรภ์ 8 เดือน ไม่ได้รับการเยียวยา ว่า ตนรู้สึกเสียใจกับครอบครัวครูพร ที่ได้สูญเสียคนที่รักไป ซึ่งเข้าใจความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาลจึงเร่งดำเนินการพิจารณาเยียวยาผู้เสียหายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างด่วนที่สุด โดยก็ได้มีการมอบเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 36 ราย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีลูกในครรภ์ของครูพร ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยานั้น เป็นเพราะติดในเรื่องข้อกฎหมาย ความเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 คือ สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอด จึงทำให้ลูกในครรภ์ ไม่ได้สิทธิรับค่าตอบแทน แต่ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งตนก็ได้สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หาทางอื่นในการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วเพื่อเป็นการทดแทน โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เสนอว่าจะเพิ่มการเยียวยาจากกรณีครูพรเป็นพลเมืองดีก็จะทำให้ได้รับการพิจารณาเงินเยียวยาเพิ่มขึ้น

“วันที่ 15 พ.ย.นี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองอุทธรณ์ จะมีการประชุมเพื่อกลั่นกรองการอุทธรณ์ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และเสนอ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา วันที่ 23 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายเพิ่มเติมในเหตุการณ์นี้ จำนวน 25 ราย ซึ่งเป็นการอุทธรณ์เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตที่ทรมาน โดยกรณีครูพร ก็จะได้รับการพิจารณาด้วย ซึ่งอาจจะได้รับการเยียวยาเพิ่ม แต่รายละเอียดต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการด้วย โดยเรื่องนี้ ผมจะคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสิ่งที่ผมจะสามารถพอช่วยบรรเทาความโศกเศร้าของครอบครัวผู้เสียชีวิตได้” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ด้าน นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความ ให้ความเห็นกรณีดังกล่าว ว่า ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ จ.หนองบัวลำภู ถือเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา โดยจะได้รับเงินสูงสุดประมาณ 2 แสนบาท จากกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีกองทุนเยียวยาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเงินเยียวยาทั้ง 2 ส่วนนี้ ผู้เสียหายหรือทายาทสามารถรับได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลตัดสิน เพราะเป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแลพลเมืองเต็มที่ อีกทั้งเป็นเหตุสะเทือนขวัญและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก

กรณีที่รัฐเยียวยาแล้ว แต่ผู้เสียหายหรือผู้ปกครองต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก ก็ต้องใช้สิทธิดำเนินการทางแพ่งในชั้นศาล ซึ่งสภาทนายความพร้อมช่วยเหลือด้านคดีและให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ โดยผู้เสียหายสามารถติดต่อสภาทนายจังหวัดหนองบัวลำภูได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาลว่าจะให้ผู้ก่อเหตุชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่ หากผู้ก่อเหตุเสียชีวิต ก็ต้องดูว่าทายาทได้มรดกของผู้ก่อเหตุมาแค่ไหน ซึ่งค่าเสียหายต้องไม่เกินจากมรดกที่ได้รับ

ขณะที่ผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาต้องมีสภาพเป็นบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ว่าสภาพบุคคลเริ่มตั้งแต่คลอด และอยู่รอดมาเป็นทารก แม้จะอยู่รอดเพียง 1 วินาที ก็ถือว่าครอบคลุมตามหลักกฎหมาย แต่กรณีที่เด็กเสียชีวิตก่อนคลอด ไม่ถือว่าเป็นบุคคล พ่อไม่สามารถเรียกร้องแทนลูกไม่ได้ แต่ศาลก็จะนำมาประกอบสำนวนในการพิจารณาเงินเยียวยาที่พ่อเรียกร้องค่าเสียหายแทนแม่

“กรณีเด็กที่เสียชีวิตก่อนคลอดก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ซึ่งการพิจารณาเงินเยียวยา เชื่อว่า รัฐไม่ได้ละเลยหรือทิ้ง แต่นำมาประกอบการพิจารณาให้เงินเยียวยาแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น