xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” สั่งคุมเข้ม “สารโซเดียมไซยาไนด์” ส่งออกนอกประเทศ หวังสกัดกั้นสารตั้งต้นยาเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อุดช่องโหว่ สารโซเดียมไซยาไนด์” ถูกส่งออกไปต่างประเทศ 810 ตัน สามารถผลิตยาบ้าได้กว่า 16,060 ล้านเม็ด

วันนี้ (31 ต.ค.) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อหาแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส., พล.ต.ต.บรรพต มุ่งขอบกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การมาหารือในวันนี้ สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการเร่งรัดติดตามการแก้ปัญหายาเสพติด หลังเกิดกรณีเหตุสะเทือนขวัญ ที่ จ.หนองบัวลำภู จึงต้องให้ทุกหน่วยงาน มาช่วยกันบูรณาการสกัดกั้นสารโซเดียมไซยาไนด์ ที่ถูกนำไปผลิตเป็นยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า มีการนำเข้ากว่า 1,150 ตัน และส่งออกไปเมียนมา ถึง 810 ตัน ใช้ในประเทศ เพียง 310 ตัน ในกลุ่มโรงงานชุบโลหะ ซึ่งสารจำนวน 810 ตัน เคยคำนวนเป็นจำนวนยาบ้า ได้กว่า 16,060 ล้านเม็ด

ด้าน นายวิชัย เผยว่า สารโซเดียมไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ที่ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งที่ผ่านมา มีการลักลอบนำไปผลิตยาเสพติด โดยโซเดียมไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม สามารถผลิตยาบ้า ได้กว่า 22,000 เม็ด ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา เมื่อ ป.ป.ส. มีการตรวจยึด ก็จะถูกโรงงานร้องเรียน จึงต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง แต่ถึงแม้จะทำอย่างรัดกุม ก็ยังมีสารหลุดรอดไปผลิตยาเสพติด

ส่วน นายจุลพงษ์ ระบุว่า สารโซเดียมไซยาไนด์ ประเทศเราไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องมีการนำเข้า-ส่งออก โดยสารนี้สามารถนำไปทำปฏิกิริยากับสารเบนซิลคลอไรด์ รวมเป็น เบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งจะกลายเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด โดยที่ผ่านมา การส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ จะต้องมีการรับรองจากหน่วยงานรัฐ ของประเทศปลายทาง ว่า มีการใช้สารนี้ เพื่ออุตสาหกรรมจริง โดยปัจจุบัน การอนุญาตให้ส่งออก จะพิจารณาเป็นราย อนุญาตไม่เกิน 6 เดือน ส่วนแนวทางในการควบคุม เพื่อไม่ให้มีการนำไปผลิตยาเสพติดนั้น ต้องมีการทำคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ลงทะเบียนรายละเอียด จะได้อนุญาตในปริมาณการใช้งานจริง ซึ่งแนวทางนี้จะป้องกันไม่ให้รายย่อยลักลอบนำไปขายได้

“ส่วนภาพรวม ขอเสนอให้มีการชะลอการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ จนกว่าจะมีการจัดสรรโควตาแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เชื่อว่า จะไม่กระทบกับผู้ใช้งานจริง หรือประเทศเมียนมา ที่สามารถนำเข้าได้โดยตรง เพราะในช่วงที่เราไม่อนุญาตส่งออก เมียนมาก็มีการนำเข้าโดยตรงจากจีน“ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ให้ชะลอการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ เพื่อจัดสรรให้รัดกุมก่อน โดยเฉพาะที่นำไปส่งออกต่างประเทศ ส่วนในประเทศ ที่ต้องการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ กว่า 310 ตัน ก็จะมีการคุมเข้มในการใช้ โดยจากนี้ ตนก็ได้ให้ ป.ป.ส.จัดทำข้อสรุปให้ชะลอการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องบูรณาการร่วมกัน ในการสกัดกั้นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญเกิดขึ้นอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น