xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ป.ป.ส.โต้ทุกประเด็นหลัง “อัจฉริยะ” ร้องนายกฯ ปลดพ้นตำแหน่ง อ้างเหตุแก้ยาเสพติดล้มเหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “วิชัย ไชยมงคล” เคลียร์ทุกประเด็นการบริหารงานป้องกันปราบปรามยาเสพติด กรณี อัจฉริยะ” จี้นายกฯ ขอปลดออกจากตำแหน่ง เลขาฯ ป.ป.ส.

วันนี้ (29 ต.ค.) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงกรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้ปลด เลขาธิการ ป.ป.ส. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากบริหารงานล้มเหลว ว่า จากประเด็นทั้งหมด ตนขอชี้แจงว่า กรณีการแถลงจับกุมคีตามีน แต่กลายเป็นเกลือนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดสิ่งต้องสงสัยว่าเป็นยาเสพติดในโกดังที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีจำนวนมากจะประสานให้สถาบันตรวจพิสูจน์ยาเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. และพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจพิสูจน์เบื้องต้นด้วยชุดตรวจทดสอบคีตามีน

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับผลตรวจพิสูจน์เบื้องต้นของทั้งสองหน่วยงานได้ผลตรวจพิสูจน์เป็นบวก ซึ่งแสดงว่าเป็นคีตามีน ประกอบกับคีตามีนที่ไต้หวันตรวจยึดได้นำมาจากที่โกดังในที่เกิดเหตุ มีการบรรจุถุงในลักษณะเดียวกัน ลักษณะทางกายภาพเหมือนกันกับคีตามีน จึงน่าเชื่อว่าเป็นคีตามีน และในการแถลงข่าวก็แจ้งสื่อไปแล้วว่าเป็นแค่ผลตรวจเบื้องต้นเท่านั้นจะยืนยันผลชัดเจนว่าเป็นคีตามีนก็ต่อเมื่อนำตัวอย่างสารนี้ไปทดสอบในห้องตรวจพิสูจน์โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ชั้นสูงอีกครั้งหนึ่ง

นายวิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อผลตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นสารตัวอื่นแต่มีคีตามีนปะปนเล็กน้อยก็ได้แถลงข่าวไปตามข้อเท็จจริงและยังได้เก็บตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์อีกครั้ง ต่อมายังได้เชิญผู้แทน UNODC ร่วมเป็นสักขีพยานในการดำเนินการนำตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งปรากฏผลการตรวจยืนยันผลว่า พบคีตามีนจำนวนเล็กน้อย และก็ได้ทำการขยายผลจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย และศาลออกหมายจับในข้อหาร่วมกันส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 (คีตามีน) ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่า ไม่มีการสกัดกั้นสารตั้งต้น “โซเดียมไซยาไนด์” ที่นำมาเป็นส่วนผสมของยาเสพติดโดยการปล่อยลักลอบให้เข้าไปประเทศลาว ซึ่งในภาคเหนือมีการประสานไว้ว่าห้ามส่งออกสารไซยาไนด์ทำให้ทะลักไปทางภาคอีสาน ในกรณีโซเดียมไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ผู้ที่จะนำเข้าส่งออกได้ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผู้มีใบอนุญาตถูกต้องจึงไม่สามารถจับกุมได้ เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะประสานกับประเทศปลายทางเพื่อขอตรวจสอบ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาแนวทางและมาตรการในการควบคุมไม่ให้นำสารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด ที่ ป.ป.ส ในวันที่ 31 ต.ค.นี้

นายวิชัย เผยว่า การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาบ้าจำนวนหรือปริมาณเท่าใดที่จะให้ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ” นั้น ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นอำนาจหน้าที่ของ รมว.สาธารณสุข ที่จะเป็นผู้ออกเป็นกฎกระทรวงของสาธารณสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ไม่มีอำนาจในการออกประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข การจัดตั้งศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติดและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข และจะต้องผ่านคณะอนุกรรมการจัดตั้งและควบคุมคุณภาพมาตรฐานศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมอนุญาตก่อน ไม่ใช่อำนาจของสำนักงาน ป.ป.ส. ส่วนการขออนุมัติแจ้งข้อหาคดีสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น

“ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพบการกระทำความผิดและดำเนินคดีฐานสมคบ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับหมายจับจากศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำหมายจับนั้นไปดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ทันทีไม่ได้มีปัญหาหรือต้องรอขออนุมัติสมคบ โดยในส่วนของการขออนุมัติแจ้งข้อหาก็ส่งมาที่เลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาคำขออนุมัติ ซึ่งมีอธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานกลั่นกรองฯ และเสนอเลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งจะลงนามในคำสั่งทันทีโดยด่วน จึงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปอันเนื่องมาจากการขออนุมัติสมคบแต่อย่างใด”

นายวิชัย กล่าวว่า ในประเด็นการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น มีขั้นตอนและกระบวนการ ตั้งแต่การออกคำสั่งตรวจสอบทรัพย์สินและการยึดอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรอง โดยมีอธิบดีอัยการภาคแต่ละภาคเป็นประธาน และเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน เพื่อมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัด เสนอพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนฯ การยึดอายัดและตรวจสอบทรัพย์สิน มีขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการซึ่งต้องใช้เวลา ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ในที่สุดทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ก็จะตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นายวิชัย กล่าวปิดท้ายว่า การขออนุมัติแจ้งข้อหาคดีสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น ไม่ได้มีความล่าช้า เมื่อศาลออกหมายจับข้อหาร่วมกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว สามารถที่จะจับกุมตัวผู้ต้องหา และยึดทรัพย์สินได้ทันที ไม่ต้องรอเลขาออกคำสั่งสมคบแล้ว การแจ้งข้อหาสมคบกันกระทำความผิดต้องมาขอหลังจากที่ศาลออกหมายจับแล้ว ซึ่งมาขอภายหลังที่จับกุมและยึดทรัพย์สินไปแล้วก็ได้ งบประมาณบูรณาการด้านยาเสพติด แต่ละหน่วยจะได้รับงบประมาณโดยตรงไปที่หน่วยเอง โดยผ่านสำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการงบประมาณ เพื่อเสนอให้ประธานคณะกรรมการบูรณาการงบประมาณ โดยการที่แต่ละหน่วยงานจะได้งบประมาณเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการพิจารณางบประมาณด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น