MGR Online - ตำรวจสอบสวนกลางแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติ “HOT” and “RAIN” เมื่อเจอวัตถุต้องสงสัย
วันนี้ (17 ต.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในสังกัด แจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรม เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ นั้น พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย “มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน” จึงได้สั่งการให้ทีมงานประชาสัมพันธ์สอบสวนกลาง ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จึงขอใช้โอกาสนี้ในการแนะนำให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน ถึงขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเจอวัตถุต้องสงสัยในสถานที่ต่างๆ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า คำว่า “วัตถุต้องสงสัย” ในที่นี้ หมายความถึง วัตถุใดก็ตามที่เหตุน่าเชื่อได้ว่าอาจมี ระเบิด, ระเบิดแสวงเครื่อง หรือวัตถุอันตรายอื่นๆ ที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัตถุระเบิดเข้าทำการตรวจสอบ โดยหน่วยงาน Cybersecurity and Infrastructure Security Agency ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้
1.เมื่อเจอวัตถุต้องสงสัย ให้ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก
2.ห้ามจับ แกะ หรือเคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัยดังกล่าว
3.แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยทันที
-หากเป็นสถานที่เอกชนหรือสถานที่ที่มีผู้รับผิดชอบดูแล เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ให้แจ้งข้อมูลให้กับผู้รับผิดชอบของสถานที่นั้นๆ ก่อน
-หากสถานที่นั้นไม่มีผู้รับผิดชอบดูแล หรือไม่สามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ ให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หมายเลข 191 ทันที
-การแจ้งจะต้องระบุถึงรายละเอียดของวัตถุต้องสงสัย สถานที่ และอธิบายว่าเหตุใดวัตถุดังกล่าวถึงดูน่าสงสัย
4.ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนและเส้นทางการอพยพ ที่เจ้าหน้าที่ หรือผู้รับผิดชอบดูแลสถานที่ดังกล่าว ให้คำแนะนำ
5.หากรู้สึกว่ากำลังจะได้รับอันตราย และยังไม่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ให้ตั้งสติและอพยพออกจากพื้นที่ โดยการสร้างระยะห่างและสิ่งกำบังเพื่อป้องกันตนเองหากเกิดการระเบิด
6.ให้ระมัดระวังเพราะอาจมีภัยคุกคามหรือวัตถุต้องสงสัยอื่นอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า โดยการพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็น “วัตถุต้องสงสัย” หรือไม่นั้น ให้ใช้หลักการ “HOT” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
H - Hidden “ถูกซุกซ่อนอยู่” โดยสิ่งของดังกล่าวถูกวางไว้ในจุดที่มองเห็นได้ยากหรือถูกซุกซ่อนไว้โดยมีเจตนาอำพรางไม่ให้มองเห็น
O - Obviously Suspicious “น่าสงสัยอย่างชัดเจน” โดยพบสายไฟ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ชิ้นส่วนที่คล้ายระเบิด อยู่ที่สิ่งของดังกล่าว
T - Not Typical “ไม่ปกติ” โดยเป็นสิ่งของที่ปกติไม่ควรอยู่ในสถานที่ดังกล่าว หรืออยู่ในบริเวณที่หากมีการระเบิด จะเป็นอันตรายร้ายแรง
และหากเชื่อว่าวัตถุดังกล่าวเป็นวัตถุต้องสงสัย ให้ดำเนินการตามหลัก “RAIN” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
R - Recognize “จำแนก” ว่า วัตถุดังกล่าวอาจเป็นวัตถุระเบิดหรือไม่ โดยดูจากสิ่งบ่งชี้ต่างๆ
A - Avoid “หลีกเลี่ยง” การสัมผัสวัตถุต้องสงสัย และรีบออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยทันที
I - Isolate “ออกห่าง” จากบริเวณที่พบวัตถุต้องสงสัยในระยะที่ปลอดภัยจากการระเบิด
N - Notify “แจ้งเหตุ” โดยจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัย และสถานที่ที่พบ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายนี้ แม้ว่าเหตุระเบิดในประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถือเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างร้ายแรง พี่น้องประชาชนจึงควรที่จะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในเมื่อเจอวัตถุต้องสงสัย เพื่อเป็นการสร้างสังคมที่ปลอดภัย และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นวัตถุต้องสงสัย ให้แจ้งให้ผู้รับผิดชอบสถานที่ดังกล่าวทราบโดยเร็ว หรือโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ที่ สายด่วน 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง