xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก “อัจฉริยะ” 1 ปี ปรับ 1 แสน แต่รอลงอาญา ไลฟ์สดหมิ่น “พริตตี้เดียร์” อ้างให้การเท็จปม “ลันลาเบล” เสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
ศาลจำคุก “อัจฉริยะ” 1 ปี ปรับ 1 แสน ไลฟ์สดหมิ่นประมาท “พริตตี้เดียร์” อ้างให้การเท็จปม “ลันลาเบล” เสียชีวิต แต่ศาลเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงรอลงอาญาไว้ 2 ปี

วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3108/2563 ที่ น.ส.วิริยาภรณ์ งามผล หรือ พริตตี้เดียร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ในคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา, พ.ร.บ.คอมฯ

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ต่อบุคคลที่สาม และประชาชนทั่วไปโดยการโฆษณา ด้วยการถ่ายทอดสดแพร่ภาพแพร่เสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเว็บไซต์ชื่อ www.facebook.com (เฟซบุ๊ก) โดยใช้บัญชีผู้ใช้ (Account) ชื่อ “ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม” เมืองไทยรายวัน เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 ว่า “พริตตี้เดียร์เนี่ยนะครับ ไปเบิกความที่ศาล
คดีลันลาเบล ทำให้คดีลันลาเบลเสียหาย”
จำเลยพูดอีกว่า “พริตตี้เดียร์ไปเบิกความ ที่ศาลธนบุรีคดีลัลลาเบลแล้วไปให้ การแบบไหนนะครับ ไปให้การเท็จแบบไหน ไปให้การกลับ คำให้การแบบไหน แล้วทำไมถึงถอนฟ้องนะครับบ้านบางบัวทองทุกคนก่อนที่จะไปขึ้นศาลคดีลันลาเบล และไปเบิกความคดีลัลลาเบลกลับคำให้การแบบไหน จนทำให้ลันลาเบลเสียหายแค่ไหน”

การถ่ายทอดสดของจำเลยด้วยการพูดถ้อยคำดังกล่าว ทำให้บุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้เห็น และรับฟังถ้อยคำพูดผ่านการถ่ายทอดสดของจำเลยเข้าใจว่า จำเลยกำลังพูดถึงโจทก์เพราะมีการพูดถึงชื่อโจทก์อย่างชัดเจน จึงทำให้ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารเข้าใจได้ว่าหมายถึงโจทก์ ดังนั้น บุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังจะเข้าใจว่าโจทก์เบิกความเท็จต่อศาลอันเป็นข้อสำคัญใน คดีลันลาเบลทำให้คดีเสียหายอันเป็นความผิดต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง การถ่ายทอดสด ด้วยถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นของจำเลยนั้นเป็นการใส่ความโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ

พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า โจทก์เป็นพยานในคดีของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลันลาเบล ซึ่งคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชน โดยประชาชนเรียกว่า คดีลันลาเบล หรือคดีบ้านบางบัวทอง และรู้จักโจทก์ในชื่อ “พริตตี้เดียร์” จำเลยเป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม มีแฟนเพจเฟซบุ๊ก จำเลยถ่ายทอดสดภาพและเสียง โดยจำเลยเป็นผู้กล่าวข้อความตามที่โจทก์นำมาฟ้อง นางศุภมาศ นรพันธ์พิพัฒน์ มารดาของ น.ส.ธิติมา เป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฐานหมิ่น ประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยถ่ายทอดสดภาพและ เสียงบน facebook live ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในการถ่ายทอดสดของจำเลยด้วย การพูดถ้อยคำดังกล่าวทำให้บุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้เห็นและรับฟังเข้าใจว่าจำเลยกำลังพูดถึงโจทก์ เพราะมีการพูดถึงชื่อโจทก์อย่างชัดเจน ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังจะเข้าใจว่าโจทก์เบิกความเท็จต่อศาลอันเป็นข้อสำคัญในคดีลันลาเบล ทำให้คดีเสียหายอันเป็น ความผิดต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง การถ่ายทอดสดด้วยถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นของจำเลยนั้นเป็นการใส่ความโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง จำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงาน หรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีลันลาเบลบ้านบางบัวทอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ หรือ ถ่ายทอดสดถึงพยานหลักฐานในคดี จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับมอบ อำนาจจากมารดาของ น.ส.ธิติมา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด ขณะที่ถ่ายทอดภาพและเสียงไม่ได้ระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์ และกระทำไปในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจ จำเลยเพียงชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชน ทราบ เนื่องจากคดีนางสาวธิติมาเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและชี้แจงในส่วนที่จำเลยถูกพาดพิง

เห็นว่า จำเลยกล่าวถึงบุคคล คือ “พริตตี้เดียร์” ในคดีลันลาเบล ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปที่ติดตามคดีของ น.ส.ธิติมา หรือ ลันลาเบล ทราบว่า จำเลยกล่าวถึงบุคคลใด เป็นการกล่าว ยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไปเบิกความที่ศาลธนบุรีด้วยการให้การเท็จและกลับคำให้การ เมื่อผู้ที่ได้ฟัง แล้วย่อมเข้าใจว่าโจทก์ให้การต่อศาลอันเป็นเท็จและมีการกลับคำให้การในคดีของนางสาวธิติมา ทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง แม้ว่าคดีที่โจทก์เบิกความเป็นพยานนั้น มารดาของน.ส.ธิติมา เป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลย ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องการรับมอบอำนาจของจำเลยก็เป็นการรับมอบอำนาจเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ทำการหมิ่น ประมาทบุคคลอื่น

อีกทั้งหากโจทก์ได้ให้การในชั้นศาลโดยการกลับคำให้การ หรือให้การเท็จ มารดาของ น.ส.ธิติมา ในฐานะผู้เสียหาย ย่อมสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายที่จะไปฟ้องร้องคดีต่อศาล เพื่อให้ดำเนินคดีกับโจทก์ต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นอันจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 1 ปี และปรับ 1 เเสนบาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลย กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น