กฟน.มอบเงินช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า รถเข็น จากเหตุไฟไหม้ย่านสำเพ็ง 3 ราย เผย กระบวนการทางกฎหมาย ยังรอผลการตรวจสอบหาสาเหตุ ไม่ได้จะปัดความรับผิดชอบ
วันนี้ (29 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ สน.จักรวรรดิ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับกลุ่มร้านค้า รถเข็น ซึ่งได้แจ้งความและประเมินค่าเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ใกล้ท่าน้ำราชวงศ์ ถนนราชวงศ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นางรำไพ ซาววงศ์ จำนวนเงิน 17,000 บาท นางสาวสมใจ โสพิษ จำนวนเงิน 6,000 บาท และ นางแพง อรสาม จำนวนเงิน 13,000 บาท โดยมี พล.ต.ต.สรเสริญ ใช้สถิตย์ ผบก.น.6 และ พ.ต.อ.นนท์ นุ่มบุญนำ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.น.6 รรท.ผกก.สน.จักรวรรดิ ช่วยเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กลุ่มร้านค้า
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กฟน. ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ทาง กฟน.ได้ดำเนินมาตรการเยียวยาเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ประสบเหตุได้รับความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยนอกจากผู้เสียหายในกลุ่มร้านค้า รถเข็น แล้ว ได้มีการติดต่อให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และอยู่ระหว่างการติดต่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มอื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนด้านกระบวนการทางกฎหมาย ยังต้องรอผลการตรวจสอบหาสาเหตุของเพลิงไหม้ และมูลค่าความเสียหาย เพื่อให้ความเป็นธรรมสูงสุดต่อผู้ได้รับผลกระทบ
นายจาตุรงค์ กล่าวยืนยันว่า จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เหตุสูญเสียเกิดขึ้นอีก โดยมีมาตรการทบทวนแผนการบำรุงดูแลรักษาอุปกรณ์เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ นำนวัตกรรมการแจ้งเตือนเหตุสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ามาใช้เพิ่มเติมจากระบบเดิมที่มีอยู่ พร้อมเร่งตรวจสอบดูแลระบบไฟฟ้ารวมถึงจุดเสี่ยง และจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่จำเป็นต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง ให้โทรไปยังสายตรงของสำนักงานเขตที่อาศัย จากนั้นสามารถรวบรวมค่าความเสียหายเพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ ส่วนในเรื่องประกัน หากผู้เสียหายทำประกันรถ หรือบ้านไว้ ก็สามารถแจ้งกับประกันภัยไว้ได้ จากนั้นทางประกันภัยจะทำเรื่องมายัง กฟน. ต่อไป
นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้น เมื่อได้ดูจากคลิปบันทึกเหตุการณ์ เห็นกลุ่มควันที่เกิดขึ้นจากด้านหลังหม้อแปลง ซึ่งปกติหม้อแปลงจะไม่มีควันขึ้นแบบนี้ เพราะหม้อแปลงเป็นโครงเหล็กโดยตามหลักแล้ว ภายในหม้อแปลงจะมีระบบป้องกัน มีการระบายความร้อน หากเกิดความร้อนสูงระบบก็จะตัดอัตโนมัติ จึงสงสัยว่าควันเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องดูจากกล้องวงจรปิดบริเวนข้างเคียง ทั้งนี้ ไม่ได้จะปัดความรับผิดชอบ แต่จะขอเยียวยาค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน สำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพได้
นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า ทราบว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีควันเกิดขึ้นที่สายไฟฟ้า ใกล้กับจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ จนทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบก็พบว่า เป็นไฟช็อตที่สายไฟฟ้าตามปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจเชิงลึกพบว่า มีการลักลอบเดินสายไฟจากบ้านหลังหนึ่งไปที่สายไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำลักษณะนี้เป็นอันตรายที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่จึงได้ตัดสายไฟออก ส่วนตัวเจ้าของสายขณะนี้ยังไม่พบแต่อย่างใด ทั้งนี้หากต้องการเดินสายไฟ
นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า อุปกรณ์ของทางการไฟฟ้าฯ ไม่ควรนำมาดัดแปลง เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ ในส่วนของสายไฟบนเสานั้น ของการไฟฟ้ามีเพียงแค่ 7 สาย คือ 3 สายบนสุด และ 4 สายที่อยู่ถัดลงมา ส่วนที่อยู่ต่ำกว่านั้น คือสายสื่อสารจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยหากจะมีการเดินสายต้องแจ้งไปทาง กสทช.ให้รับทราบ แล้วจึงมาขออนุญาตกับทางการไฟฟ้า จึงจะทำได้ แต่พบว่ามีบางรายไม่ได้ขออนุญาต และมีการเพิ่มจำนวนสายสื่อสารในจุดต่างๆ ซึ่งในการเพิ่มสายสื่อสารนี้ บางครั้งก็จะทิ้งสายเดิมไว้ หรือที่เรียกว่า สายตาย จนทำให้มีสายเคเบิ้ลรกรุงรังเป็นจำนวนมาก โดยหากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวก็จะสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้