xs
xsm
sm
md
lg

กฟน. ขอให้ผู้เสียหาย "ไฟไหม้สำเพ็ง" เข้าเจรจาพูดคุยกันก่อนยื่นฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าการไฟฟ้าฯ บอกผู้เสียหายไฟไหม้สำเพ็งใจเย็นก่อน ฟ้องร้องได้แต่มาคุยกันก่อน ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุการเกิดไฟไหม้ได้ กำลังเร่งตรวจสอบอย่างละเอียด 
วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. นาย วิลาส เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง พร้อม ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ น.ส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร พาคณะเดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่เหตุเพลิงไหม้ และรอบๆ อาคาร โดยมีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาทำการ ซ่อมแซมสายไฟ และตรวจสอบความปลอดภัยบริเวณ เสาไฟฟ้าในจุดใกล้เคียงกับที่เกิดอัคคีภัย

นายวิลาส กล่าวว่า ทาง กฟน. ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ขณะนี้ต้องรอผลการพิสูจน์ให้เสร็จสิ้น แต่เรื่องมาตรการรับผิดชอบนั้นมีอยู่แล้ว ทั้งในส่วนทรัพย์สินที่เสียหายและผู้เสียชีวิต ส่วนหม้อแปลงนั้นมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี โดยลูกนี้ใช้มาแล้วประมาณ 20 ปี มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐาน และได้ตรวจสอบล่าสุดเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งปกติจะทำการตรวจสอบปีต่อปี

เบื้องต้นยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาได้ แต่จากสภาพแวดล้อม เห็นว่ามีควันขึ้นและมีไฟไหม้ ต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน ส่วนเรื่องที่มีข้อมูลว่าเจ้าของอาคารจะฟ้องร้อง กฟน. เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาทนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของผู้เสียหาย อย่างไรก็ตามอยากให้มีการพูดคุยกันก่อน

จากนี้ผู้เสียหายอาจสามารถติดต่อที่สำนักงานเขตท้องที่ได้ ปกติแล้วหม้อแปลงไฟฟ้าลักษณะนี้มีจำนวนประมาณ 400 ลูกทั่วกรุงเทพฯ และจะมีการปรับแผนการบำรุงรักษา ติดอุปกรณ์เตือนเหตุ รวมถึงประสานกับทางกรุงเทพมหานคร และประสานในเรื่องสายสื่อสารเช่นกัน

จากนั้น ดร.ธเนศ เปิดเผยว่า ต้องแบ่งตัวอาคารเป็นสองส่วน อาคารส่วนแรกที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้านั้นส่วนใหญ่ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและได้รับผลกระทบน้อย พื้นไม่มีรอยแตกร้าว แต่ห้องทางฝั่งซ้าย 2 หลังข้างกันเป็นผนังอิฐก่อ และเสริมโครงสร้างเหล็ก เมื่อเจอความร้อน เหล็กได้เสียรูปและแอ่นตัว ผนังเองก็มีการบิดตัว

โดยมีข้อเสนอแนะว่าสามารถตรวจสอบห้องที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทางขวาตามหลักวิศวกรรมได้ ส่วนสองห้องทางด้านซ้ายนั้นอาจต้องทำการรื้อทั้งหมด โดยทั้งสามห้องนั้นไม่ได้มีโครงสร้างเชื่อมกัน และมีโอกาสถล่มได้ หากประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตในอาคารโดยรอบต้องมีการค้ำยันก่อน

ด้าน น.ส.บุษกร กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นเหตุที่ทำให้ทุกคนตระหนักเรื่องความเสี่ยง สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการใช้พื้นที่จุดเสี่ยง เช่นการค้าขายใต้หม้อแปลงไฟฟ้า เพราะเมื่อเกิดเหตุนั้นจะเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว รวมถึงการจัดเก็บสิ่งของภายในอาคาร เช่น พลาสติก ที่ติดไฟแล้วจะสามรถดับได้ยาก ที่สำคัญคือตัวอาคารที่ต้องมีทางหนีไฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น