โฆษกอัยการ เผย ศาลสั่งประหารชีวิต “อดีต ผกก.โจ้” เจตนาฆ่าโดยทารุณโหดร้าย ข้อหาหนักตามที่อัยการฟ้องแล้ว แต่กฎหมายระบุให้คดีโทษสูง “ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต” ต้องส่งศาลอุทธรณ์พิพากษาอีกครั้ง
วันนี้ (9 มิ.ย.) นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางสั่งประหารชีวิต พ.ต.อ.ฐิติสรรค์ อุทธนพล หรือ “อดีต ผกก.โจ้” ที่ใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะผู้ต้องหาเพื่อรีดข้อมูลยาเสพติดจนเสียชีวิตว่า
กรณีมีคนสงสัยว่า ศาลลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต พ.ต.อ.ฐิติสรรค์ กับพวกจำนวน 6 คน ส่วน ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น ผบ.หมู่ ป. จำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน อัยการจะอุทธรณ์อีกหรือไม่นั้น ปกติอธิบดีอัยการคดีศาลสูงจะต้องตรวจดู แม้ศาลจะจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น หากศาลท่านลดโทษลงมาแล้ว โทษน้อยเกินไป อัยการก็อุทธรณ์ให้ลงโทษหนักขึ้น ส่วนคดี “อดีต ผกก.โจ้” เข้าใจเบื้องต้นว่าศาลลงโทษทุกข้อหา และประหารชีวิตเต็มตามฟ้องของอัยการแล้ว ส่วนที่ท่านลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เพราะปรากฏว่ามีเหตุลดโทษ ประกอบกับจำเลยได้บรรเทาผลร้ายแล้ว อันนี้ก็เป็นดุลยพินิจของศาลแล้ว
อย่างไรก็ตาม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต และจำเลยไม่มีการอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็คือว่า คดีที่ศาลระวางโทษสูงถึงประหาร จำคุกตลอดชีวิต บางที จำเลยไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ก็มี กฎหมายต้องการให้มีการกรองอีกครั้งโดยศาลสูง ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น คดีก็ถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พ่อแม่ นายจิระพงษ์ ธนะพัฒน์ ผู้ตาย เป็นโจทก์ร่วม มีคำขอส่วนแพ่ง (ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา)เข้ามาแต่ศาลไม่ให้ เพราะเป็นกรณีตำรวจทำละเมิดในการปฎิบัติหน้าที่ ต้องไปใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรา 5 นั้น อัยการมีหน้าที่ต้องแก้ต่าง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่
นายอิทธิพร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า แม้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการจะต้องแก้ต่างให้หน่วยงานของรัฐ ในกรณีถูกฟ้องเพราะเจ้าหน้าที่ในสังกัดไปทำละเมิด เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าทำไปตามหน้าที่ ผู้เสียหายจะฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้นั้น แต่มีประเด็นต้องพิจารณาที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ทำไปตามหน้าที่นั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอัยการจะรับให้ทุกเรื่อง ฉะนั้น อัยการอาจจะไม่รับแก้ต่างให้ก็ได้เป็นดุลยพินิจอัยการ และหากเป็นการทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่จริง แต่ฝ่ายผู้เสียหายตั้งฟ้องทุนทรัพย์สูงจนเกินไป เช่นบางคดี 50 ล้านก็มี ทั้งที่ความจริงเสียหายไม่ถึง 5 แสนบาท อัยการก็ต้องพิสูจน์ในศาลว่าค่าเสียหายไม่ถูกต้อง