xs
xsm
sm
md
lg

ทลายเครือข่ายแฮกไลน์หลอกยืมเงิน เหยื่อเฉียดพันราย เสียหายกว่า 50 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ตร.ทลายเครือข่ายแฮกไลน์ หลอกยืมเงินคนใกล้ชิด ผู้เสียหายเฉียดพันราย สูญเงินกว่า 50 ล้านบาท แนะเจ้าของบัญชีตั้งค่ายืนยันตัวตน 2 ชั้น ยกเลิกการเชื่อมต่อบัญชีไลน์กับเฟซบุ๊ก หากไม่ใช้งาน

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT พร้อมด้วย พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ.5, พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2 ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการ 5 PCT, พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตอท., พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒน์ชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ร่วมแถลงผลการจับกุมขบวนการแฮกไลน์ ผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 50 ล้านบาท
 
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งนับตั้งแต่ ผบ.ตร. สั่งตั้งศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ มีผู้เสียหายแจ้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก คดีนี้ฝ่ายรับแจ้งพบสถิติมีผู้แจ้งความออนไลน์ในคดีถูกแฮกไลน์หลอกยืมเงินเข้ามามากผิดปกติ เกิดขึ้นทั่วประเทศ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยช่วยกันสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้าย โดย ชป. 5 PCT, บช.ก. และ ตำรวจภูธรภาค 5 (ภ.5) บูรณาการร่วมกัน มี พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2 หน.ชป.5 PCT, พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท., พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ นำทีมสืบสวนจนทราบว่าเครือข่ายแฮกไลน์นี้จะส่งลิงก์แฝงโปรแกรม ตัวอย่างลิงก์ คือ http://ded4950 . inmotionhosting ดอท com แฝงไปยังกลุ่มต่างๆ เช่น เว็บไซต์จองที่พัก, กลุ่มขายกระเป๋าแบรนด์เนม เมื่อมีเหยื่อหลงกลกดเข้าไป จะเข้าสู่หน้าที่ให้กรอกข้อมูล หากเหยื่อกรอกข้อมูลลงไปแล้ว คนร้ายจะสามารถเข้าไปล็อกอินระบบไลน์ของเหยื่อได้ทันที จากนั้นก็จะทักไปยืมเงินเพื่อนในไลน์ของผู้เสียหาย

ตร.นำหมายศาลบุกเข้าจับกุมตัวนายสมพร หรือ แหลม (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาระดับหัวหน้าขบวนการและเป็นมือแฮกเกอร์
ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย.65 ชุดหนุมาน บก.ป. ได้นำหมายศาลบุกเข้าจับกุมตัวนายสมพร หรือ แหลม (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาระดับหัวหน้าขบวนการและเป็นมือแฮกเกอร์ ในข้อหา “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น” จากคดีที่ นายสมพร แฮกไลน์ของ “นายเป๊ก-เศรณี” ลูกชายคนเล็กของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และจากประวัติอาชญากรรม ยังพบว่า ผู้ต้องหารายนี้เคยก่อเหตุในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง

ชุดสืบสวน PCT, บช.ก., สอท. และ ภ.5 ประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้อีก 6 ราย คือ 1. นายณัฐพงษ์ สงวนนามสกุล อายุ 36 ปี 2. นายเกียรติศักดิ์ สงวนนามสกุล อายุ 24 ปี 3. นายเดี่ยว สงวนนามสกุล อายุ 30 ปี 4. นายมณฑล สงวนนามสกุล อายุ 39 ปี 5. นายนฤนาท สงนนามสกุล อายุ 31 ปี 6. นายอำนาจ สงวนนามสกุล อายุ 23 ปี โดยทั้ง 6 ราย ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีและถอนเงินที่เหยื่อโอนเข้ามา นอกจากนี้ ยังพบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอีกหลายรายการเตรียมขยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการอีก 7 ราย


รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ขบวนการนี้มี นายสมพร หรือ แหลม สงวนนามสกุล เป็นแฮกเกอร์ เคยถูกจับกุมมาแล้วและอยู่ระหว่างการประกันตัวสู้คดีอยู่ นอกจากนี้ นายสมพร ยังมีพฤติกรรมเกี่ยวพันกับยาเสพติด จึงเข้าไปพัวพันกับ นายบัณฑิต อวยชัย หรือ อ้น ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ( ถูก บช.ปส.จับกุมเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 65 ข้อหา สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฯ) และจึงมีการรวมตัวกันสร้างขบวนการ “แฮกไลน์” ขึ้นมาใหม่ โดยพัฒนากรรมวิธีการเดินบัญชีโดยใช้กลุ่มบัญชีม้าของผู้ค้ายาเสพติดกลุ่มของ นายบัณฑิต (อ้น) ช่วยเดินบัญชี และขยายเครือข่ายการจัดหาบัญชีม้าและมีการสอนรูปแบบการเดินบัญชีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบให้กับเครือข่าย ซึ่งทุกคดีที่เกิดขึ้นจะมีแผนประทุษกรรมการโยกย้ายเงินเหมือนกัน ซึ่งเป็นแผนประทุษกรรมเหมือนกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ทำให้ขบวนการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการบูรณาการร่วมกันปฏิบัติการครั้งนี้ สมบูรณ์แบบเพราะสามารถจับกุมตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับหัวหน้าขบวนการ และสามารถยึดและอายัดเงินในบัญชีของขบวนการนี้ไว้แล้ว 32 บัญชี ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการเพื่อนำคืนให้กับผู้เสียหายต่อไป

จากสถิติคดีเดือน มี.ค.- พ.ค. 65 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายถูกหลอกไปแล้ว 969 คดี ความเสียหายรวมทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งพบแต่ละรายที่ถูกหลอกจะเสียเงินเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปแล้วให้รีบแจ้งความเข้าระบบออนไลน์ไว้ เพื่อจะได้เร่งติดตามยึดทรัพย์สินนำคืนให้กับผู้เสียหายโดยเร็วที่สุด

สำหรับแนวทางป้องกัน เจ้าของบัญชี ควรทำการยืนยันตัวตนแบบ 2 ชั้น เพื่อเข้าสู่บัญชีเฟซบุ๊ก หรือ กลับไปดูการตั้งค่าที่ไลน์ว่า มีการเชื่อมต่อกับบัญชีเฟซบุ๊กไว้หรือไม่ หากเจ้าของบัญชีไม่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้ในการเข้าระบบเลย แนะนำให้ยกเลิกการเชื่อมต่อ โดยใช้วิธีการเข้าระบบด้วยอีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์แทน นอกจากนี้ ในไลน์ จะมีฟังก์ชั่นอนุญาตให้เข้าสู่ระบบจากเครื่องอื่นได้ แต่ถ้าไม่มีความจำเป็น ต้องเข้าระบบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ควรปิดไว้ ต่อมาหากพบว่าไลน์ในมือถือหลุดออกจากระบบ ให้สันนิษฐานไว้ว่าโดนแฮกไลน์แล้ว และหากมีเพื่อนในไลน์ส่งข้อความขอยืมเงิน ควรโทรศัพท์กลับไปตรวจสอบและยืนยันอีกครั้ง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งคนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการปราบปรามมาโดยตลอด และอยากฝากเตือนว่า อย่าหลงเชื่อให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนที่ไม่รู้จัก และหากมีใครทักไลน์มายืมเงิน ก็ควรจะโทรศัพท์กลับไปพูดคุยก่อน หรือหากหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ให้รีบแจ้งความในระบบออนไลน์โดยเร็วที่สุด” ทั้งนี้ หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 หรือ 191 ทั่วประเทศ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com
กำลังโหลดความคิดเห็น