xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เตือนคนร้ายแฮกบัญชีเฟซบุ๊กแล้วใช้บัญชี Line ที่ลิงก์กันหลอกยืมเงินเพื่อน แนะยกเลิกเชื่อมต่อหากไม่ใช่งานฟีเจอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ผอ.PCT เตือนคนร้ายแฮกเฟซบุ๊ก แล้วใช้บัญชี Line ที่ลิงก์กันหลอกยืมเงินเพื่อน แนะหากไม่ได้ใช้งานฟีเจอร์นี้ แนะนำให้ยกเลิกการเชื่อมต่อ แล้วเข้าระบบด้วยเบอร์โทรหรืออีเมล
 
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT เปิดเผยเรื่องนี้ ว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายรับแจ้งความออนไลน์ ว่า มีผู้เสียหายถูกคนร้ายแฮกบัญชีเฟซบุ๊กแล้วใช้บัญชี Line หลอกยืมเงินเพื่อน สร้างความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ​ กล่าวว่า ปัจจุบันแอปพลิเคชัน Line เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือจะมีบัญชี Line ด้วยสาเหตุที่หลายคนใช้บัญชี Facebook ลิงก์กับบัญชี Line เพื่อเข้าสู่ระบบ เพราะความสะดวกสบาย ทำให้คนร้ายนำช่องทางนี้มาใช้ประโยชน์ สร้างความเสียหายกับเจ้าของบัญชี ฉะนั้น เราจะป้องกันได้อย่างไร

ประการแรก ให้ทำการยืนยันตัวตนแบบ 2 ชั้น เหมือนบังคับให้ต้องมีกุญแจ 2 ดอก เพื่อเข้าสู่บัญชี Facebook ของเรา ถ้าเขาเข้าเฟซบุ๊คไม่ได้ เขาก็เข้าไลน์ไม่ได้เช่นกัน ประการที่สอง ให้กลับไปดูการตั้งค่าที่แอปพลิเคชัน Line ของคุณในตอนนี้ ว่า เชื่อมต่อกับบัญชี Facebook ของคุณไว้หรือไม่ ถ้าเชื่อมแต่คุณไม่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้ในการเข้าระบบเลย แนะนำให้ยกเลิกการเชื่อมต่อ ไปใช้การเเข้าระบบด้วยอีเมลหรือเบอร์โทรแทน

ประการที่สาม ในแอปพลิเคชัน Line จะมีฟังก์ชันอนุญาตให้เข้าสู่ระบบจากเครื่องอื่นได้ ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องเข้าระบบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ปิดไว้ ประการที่สี่ เมื่อ Line ในมือถือหลุดออกจากระบบให้สันนิษฐานไว้ว่าเราโดนแฮก Line แล้ว และประการสุดท้าย เมื่อมีเพื่อนใน Line ส่งข้อความขอยืมเงิน ให้โทร.กลับไปเพื่อตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นเพื่อนของเราจริง เพียงเท่านี้เราก็จะปลอดภัยจากอาชญากรและมิจฉาชีพทั้งหลาย


จากสถิติคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการให้มีศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.- 27 พ.ค.65 พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความแล้ว 29,345 ราย แบ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับ 1. ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 10,500 คดี 2. หลอกให้ทำงานออนไลน์ (เช่น ให้รีวิวสินค้า, กดไลก์ Tiktok, กดไลก์สินค้า) 3,599 คดี 3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 2,962 คดี 4. ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) 2,274 คดี 5. หลอกให้รักแล้วลงทุน (Hybrid scam) 1,368 คดี 6. หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ 1,203 คดี 7. ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 901 คดี 8. แชร์ลูกโซ่ 808 คดี 9. ซื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา (ไม่ตรงปก) 431 คดี 10. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 293 คดี

ผอ. PCT กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี มีความห่วงใย จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ อยากฝากเตือนว่า อย่าหลงเชื่อโอนเงินให้ใครง่ายๆ ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อน หากสงสัยหรือแจ้งเบาะแส ได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com และฝาก
ติดตาม Facebook : PCT POLICE เพื่อรู้ทันความคิดของโจรออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น