MGR Online - ตำรวจบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 พรุ่งนี้ทันที ควบคู่สร้างการรับรู้ ชี้แจงแต่ละกรณีอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ มีโทษทางแพ่ง อาญา ปกครอง อาจเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพ์ ด้วย
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวถึงกรณีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ปี 2562 ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ว่า เป็นกฎหมายที่อยู่ในเซตเดียวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการตั้งคณะทำงาน บัญญัติกฎหมาย และศึกษามาเป็นระยะแล้ว มีผลบังคับใชัในวันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) ตัวกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองความเป็นส่วนตัว หรือข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นทุกวัน ทำให้มีการละเมิดข้อมูลรวมถึงความเป็นส่วนตัว หรือส่วนบุคคลมากขึ้น กฎหมายฉบับนี้มุ่งให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง
โดยเจ้าของข้อมูลสามารถดำเนินการ หรือเรียกร้องทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด หรือให้อำนาจเอาไว้ เจ้าของมีอำนาจดำเนินการกับหน่วยงานนั้นๆ ยกตัวอย่าง มีแอปพลิเคชันเกี่ยวกับบัตรเครดิต การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ แอปฯจะต้องมีส่วนทำให้เจ้าของข้อมูลที่เราใส่ข้อมูลไป ให้ความยินยอมในการจัดเก็บข้อมูลก่อน แม้มีส่วนใดส่วนหนึ่งในแอปฯนั้น ให้เราอ่านแล้วยินยอมเก็บข้อมูลของเราไปก็ตาม เมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลแล้วจะต้องดำเนินการให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การรวบรวมข้อมูลนั้นจะต้องมีการรักษาความมั่นคงความปลอดภัยทางข้อมูล ไม่ให้นำไปเปลี่ยนแปลง ดัดแปลง แก้ไข หรือสามารถเข้าถึงข้อมูล พูดง่ายๆ ว่าเมื่อเอาข้อมูลส่วนตัวไปแล้ว (ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์)
บุคคลอื่นที่นำไปใช้หน่วยงานจะต้องมีวิธีการทำให้เจ้าของข้อมูลเกิดความเชื่อมั่นว่า ข้อมูลที่ถูกนำไปใช้นั้นจะต้องเก็บรักษาไว้เป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ สามารถนำไปใช้เพียงที่เจ้าของข้อมูลนั้นให้ความยินยอมเท่านั้น ถ้าพ้นจากนี้เจ้าของรู้สึกว่าถูกละเมิดเพราะถูกนำข้อมูลไปเปิดเผย แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ประโยชน์อีก ตรงนี้ถ้ามีการพิสูจน์ทราบได้เจ้าของสามารถฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง โดยเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา เช่น การเข้าถึงโดยมิชอบ การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิควร ถ้าดูแล้วมีการนำข้อมูลของเราไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือมิได้ยินยอม หรือไม่ได้สร้างมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายในกฎหมายฉบับนี้จะมี สำนักงานคณะกรรมการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวทำหน้าที่มอนิเตอร์ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประสานงานต่างๆ
กรณีเกิดอุบัติเหตุสามารถนำภาพจากกล้องหน้ารถเป็นหลักฐาน หรือโพสต์ลงโซเชียลเอาผิดคู่กรณีได้หรือไม่ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้สร้างการรับรู้ให้ประชาชนมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนแล้ว ข้อมูลที่เป็นส่วนบุคคลการนำไปใช้ต้องได้รับความยินยอม สำหรับการมีข้อมูลของเราเอง หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจถูกนำไปใช้แล้วเราไม่ได้ยินยอม เช่น มีภาพของคนอื่นไปปรากฏที่กล้องหน้ารถ ถ้าพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการใช้เพื่อส่วนบุคคลจริงๆ เราไม่ได้มีเจตนาที่จะถ่ายภาพ คลิป แล้วติดคนอื่นนำไปใช้ในทางที่ผู้อื่นเสียหาย หรือได้ประโยชน์ทางการค้าตรงนี้ไม่เป็นไร เกิดคำถามว่าเราติดกล้องหน้ารถเพื่อวัตถุประสงค์อะไร 1. เพื่อคุ้มครองตัวเราเอง 2. เพื่อเป็นหลักฐานในการช่วยตัวเอง 3. เพื่อประโยชน์สาธารณะ
กรณีรีวิวร้านอาหาร ไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมใดๆ แล้วถ่ายติดคนอื่นเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ คำตอบต้องดูที่เจตนา ถ้าไปรบกวนสิทธิความเป็นส่วนบุคคลของคนอื่นแล้วเขาไม่ยินยอม หรือคนอื่นถ่ายภาพติดเราแล้วเราไม่ยินยอมแต่ยังทำอยู่ ก็ต้องไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยปกติของเราแล้วไม่เกิดความเสียหายก็ไม่เป็นไร กฎหมายเป็นกฎธรรมชาติอยู่แล้วเจตนารมณ์บอกอยู่แล้วว่า มุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉะนั้นทุกอย่างอยู่ที่เจตนาถ้าไม่มีเจตนาไปละเมิดความเป็นส่วนของคนอื่น หรือมีความยิมยอมก็ไม่มีปัญหาอะไร มีกรณีนำข้อมูลไปใช้โดยที่เจ้าของไม่ต้องยินยอมที่กฎหมายให้อำนาจ หรือใช้ในการรักษาทางการแพทย์ อย่างโรงพบาบาลมีข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ แต่ถ้ามีความจำเป็นที่นำข้อมูลมาใช้ โดยที่เจ้าของคือผู้ป่วยไม่ต้องยินยอม เพื่อประโยชน์ในการรักษาของตนเอง หรือสาธารณะสามารถดำเนินการได้ ถ้าเป็นการป้องกันสิทธิ์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือความปลอดภัยทั้งส่วนตัว หรือสาธารณะสามารถทำได้อยู่ในข้อยกเว้นเช่นกัน
กรณีโครงการติดตั้งกล้อง CCTV ของ ตร.ทั่วประเทศเป็นการละเมิดหรือไม่ มีข้อยกเว้น ถ้าใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ การที่หน่วยงานราชการต่างๆ ไปติดกล้อง CCTV หรือประชาชนทั่วไปติดที่บ้าน ก็คงไม่อยากไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลคนอื่นอยู่แล้ว เป็นการติดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับบ้านเราก็เหมือนกัน ย้ำว่า ถ้าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะคงดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว เว้นแต่ไปติดกล้อง CCTV ในห้องน้ำ หรือที่ส่วนบุคคลเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแน่นอน ฝากไปถึงผู้ประกอบการเอกชนที่จะต้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อยากให้ไปศึกษากฎหมายให้ดีแล้วปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีบทกำหนดโทษทางอาญาจำคุกในหลายๆ ส่วน ถ้าแอปฯไม่มีแพลตฟอร์มที่จะให้เจ้าของข้อมูลยินยอมนั้นผิดกฎหมายแน่นอน ถึงแม้ว่ามีการยืนยันให้ยินยอมใช้ข้อมูล จะต้องมีมาตรฐานรักษาความปลอดภัย ถ้าไม่ดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยกับข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าถึงของข้อมูล การป้องกันข้อมูลไม่ให้ถูกนำมาใช้ในทางมิชอบ การบิดเบือนข้อมูล การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการค้าโดยเจ้าของไม่ยินยอม ถือว่าเป็นเจตนารมณ์หลักๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนมีการตั้งข้อสังเกตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจสุ่มเสี่ยงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็ต้องไปดูอยู่แล้ว
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า กรณีมีประชาชนไม่ทราบข้อกฎหมายดังกล่าวหากทำผิดจะดำเนินคดีทันที หรือตักเตือนก่อนนั้น กฎหมายฉบับนี้มีการบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2562 เพียงแต่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาเป็นวันที่ 1 มิ.ย. ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ส่วน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ได้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน การบังคับใช้กฎหมายที่จะถึงนี้จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมมติมีประชาชนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจคงไม่มีทางเลือกต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ให้สังคมได้รับทราบว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องดำเนินการถ้าฝ่าฝืนเจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ในการเรียกร้องทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง บางส่วนอาจมีความเกี่ยวโยงกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย
ผบ.ตร.สั่งการไปยัง บช.ต่างๆ ให้ทราบการรับรู้อยู่แล้วว่า เมื่อมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาต้องพร้อมบังคับใช้กฎหมายทันที ตร.มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายอยู่แล้ว ในอนาคตจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องนี้มากขึ้นถือว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ไม่ใหม่ทีเดียวมีการดำเนินการมา 3 ปีแล้ว ทุกคนที่อยู่ในวงการรับรู้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่แล้ว และมีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการในส่วนใดบ้าง กรณีในอนาคตอาจมีแนวโน้มเรื่องการชุมนุมหลายๆ ครั้ง ตำรวจเองต้องมีการบันทึกภาพเหตุการณ์ หรือฝั่งผู้ชุมนุมบันทึกภาพตำรวจ ตรงนี้ตำรวจ และผู้ชุมนุมสามารถทำได้ แต่การนำไปโพสต์แล้วให้เกิดความเสียหายโดยที่ไม่มีข้อเท็จจริงมีความผิดกฎหมายตัวอื่น ส่วนจะผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือไม่ ก็ต้องไปรายละเอียดแต่ละเคสไป
“ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการชุมนุม จริงแล้วในการบันทึกภาพ เสียง เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดี หรือพิสูจน์ทราบ หรือความบริสุทธิ์ใจของตนเอง ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่อยากให้พิจารณาว่าการไปบันทึกภาพคนอื่น แล้วนำไปใช้ในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย และไม่ได้ดำเนินการไปตามกฎหมายก็คงต้องระวัง ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีคนเดินเข้ามาถ่ายภาพถ่ายคลิปเราแล้วโพสต์ลงโซเชียล สุดท้ายเราโดนบูลลี่ อาจจะเกี่ยวโยงกับกฎหมายอื่นด้วยดูเจตนารมณ์เป็นหลัก” รองโฆษก ตร.กล่าว
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาทาง ตร.ได้วางแนวทางเพื่อกำหนดการปฏิบัติของตำรวจเนื่องจากต้องสัมผัสเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก ในส่วนของ บช.น.ได้เตรียมความพร้อม กรณีมีกล้องติดตัวตำรวจจราจร หรือกล้องตรวจจับฝ่าฝืนกฎจราจร กฎหมายมีข้อยกเว้นอยู่ เนื่องจากเป็นการใช้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ผ่านมา เป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้สำหรับให้ตำรวจบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบและความปลอดภัยในสังคม