ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก “เจ๊ปอง” กับพวก 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีพาผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บุก NBT ช่วงการชุมนุมขับไล่ รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 51
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1033/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที แนวร่วม พธม. และ นายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล น้องชายของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ กรณีร่วมกันบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในช่วงการชุมนุมของ พธม. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25-26 ส.ค. 2551 จำเลยทั้งห้ากับพวก 85 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันกระทำความผิดเป็นซ่องโจร มั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันเดินขบวนในถนนสาธารณะจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และจากที่อื่นๆ โดยมีอาวุธปืน มีด ขวาน ไม้กอล์ฟ ไม้ท่อน หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณและอาคารสำนักงานสถานีเอ็นบีที ทุบทำลายประตูหน้าต่าง ตัดสายไฟฟ้าตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด ทำลายระบบส่งสัญญาณการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ออกอากาศและกระจายเสียง และสั่งให้ออกไปจากอาคารสถานี โดยจำเลยทั้งห้าเป็นหัวหน้าและเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 309, 358, 364 และ 365 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่12 ก.พ. 63 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ให้จำคุกนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุก น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2 นายภูวดล จำเลยที่ 3 นายยุทธิยง จำเลยที่ 4 และนายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5 คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
โดย นายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 ได้เสียชีวิตเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะนายสมเกียรติออกจากสารบบความ
วันนี้น.ส.อัญชะลีจำเลยที่ 2 กับพวกจำเลยที่ 3,4,5 เดินทางมาศาล
ต่อมาเวลา 10.00 น.เศษ
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-5 ว่า ได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ หรือไม่ โจทก์มีนายสุริยงค์ หุณฑสาร ผอ.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที และช่างภาพพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบิกความเป็นพยานว่า ในช่วงเช้าเวลา 06.00 น.เศษ ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯใส่เสื้อสีเหลืองรวมทั้งแต่งกายชุดสีดำของกลุ่มนักรบศรีวิชัย ได้เดินทางมาที่ประตูด้านหน้าสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เอ็นบีที ต่อมามีรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงมาจอดด้านหลังผู้ชุมนุม ซึ่งมีผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ทยอยมาสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาเวลา 08.00 น.ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่พร้อมรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงที่ทำเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่หลายคันเดินทางมาถึง เห็นจำเลยที่ 2-4 ยืนพูดบนรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงดังกล่าว และเห็นจำเลยที่ 5 เข้ามาในอาคาร บอกให้เจ้าพนักงานตำรวจถอยออกไปจากอาคาร จากนั้นผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คน พังประตูรั้วเหล็กฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่และอาคารสำนักงานสถานี เจ้าพนักงานตำรวจถอยเข้าไปในอาคารสำนักงานและปิดประตูทางเข้า ผู้ชุมนุมล้อมอยู่นอกอาคาร
ต่อมามีผู้ชุมนุมทุบประตูกระจำเข้ามา กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดอาคารได้ และต้องการยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีทีให้จอดำ ในส่วนของจำเลยที่ 5 เมื่อประตูกระจกแตกผู้ชุมนุมได้เข้าไปในอาคาร จำเลยที่ 5ก็ได้ประกาศว่า ชื่อสนธิชัย ลิ้มทองกุล มีการแสดงบัตรให้ดู โดยนายสนธิชัย จำเลยที่ 5 ได้พูดประกาศว่า ได้รับคำสั่งจากหน่วยบัญชาการ ที่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นการปฏิวัติภาคประชาชน หลังจากนั้นก็เริ่มนับถอยหลัง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถือกระบองนำกระบองเคาะพื้นตามการนับของจำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานตำรวจหลีกเลี่ยงการปะทะ จึงออกมาอยู่บริเวณด้านนอกอาคาร
เจ้าพนักงานตำรวจเบิกความ ต่อว่า การบุกรุกเข้ายึดอาคารสำนักงานสถานี เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำโดยให้กลุ่มนักรบศรีวิชัย ซึ่งเป็นกองกำลังรักษาความปลอดภัยบุกเข้าไปก่อนเพื่อดูแลความปลอดภัย รอทัพใหญ่ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมธรรมดาตามมา กลุ่มพันธมิตรฯยึดพื้นที่บริเวณสถานีและอาคารสำนักงาน จนถึงเวลา 16.00 น. เมื่อไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณได้ จึงมีการเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจแล้วออกจากพื้นที่ไป
ส่วนจำเลยที่ 2-5 นำสืบทำนองเดียวกันว่า ไปที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที เพื่อห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที จำเลยที่ 5 เข้าไปในอาคารสำนักงาน เนื่องจากประตูเปิดไว้ ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจห้าม และเข้าไปเพื่อห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ทำลายทรัพย์สิน
เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2-5 เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อทราบเหตุว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมถูกจับกุมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที จำเลยที่ 2-4 จึงขึ้นรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงมาที่เกิดเหตุพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 5 โดยสารรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2-5 ย่อมทราบว่า ในขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งไว้ การที่จำเลยที่ 2-5 กับกลุ่มผู้ร่วมนุมนุมมาที่เกิดเหตุอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แม้จะอ้างว่า จำเลยที่ 2-4 ไม่ได้เข้าไปในบริเวณและภายในอาคาร แต่การที่ร่วมกันเดินทางมาย่อมทราบว่าอาจทำให้สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2-4 กับพวกจึงเป็นการร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธแล้ว ทั้งพยานโจทก์ก็เบิกความสอดคล้องกันว่า เห็นและได้ยินจำเลยที่ 2-4 อยู่บนรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงผลัดเปลี่ยนกันพูดโจมตีรัฐบาล สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที การกระทำของจำเลยที่ 2-5 จึงเป็นการกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำและเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยมีอาวุธ โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คน จำเลยที่ 2-5 จึงต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วม พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2-5 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ที่จำเลยที่ 2-5 อ้างว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2-5 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาด้วยการกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษไว้ก่อนนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยที่ 2-5 กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ลักษณะการกระทำความผิดเป็นการกระทำโดยอุกอาจ ต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการไม่ยำเกรงกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและความสงบสุขของสังคม และส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวม กรณีจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-5 และไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ขณะที่ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความกล่าวถึงคำพิพากษาศาลอุทรณ์ว่ามีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินทั้ง 4 คน จำคุกคนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เสียชีวิตแล้ว ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี ส่วนเรื่องคดีมีความกังวลใจในระดับหนึ่งแต่ก็น้อมรับคำพิพากษาของศาล หลังจากนี้จะดำเนินการยื่นขอประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม เป็นเงินสดจำนวน คนละ 2 แสนบาท ซึ่งการประกันอยู่ในเงื่อนไขของการประกัน ไม่มีปัญหาอะไร จะทราบผลอีกครั้งในเวลา 16.00 น. ตามดุลยพินิจที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ และก็จะยื่นฎีกาต่อ เพราะทำเรื่องอุทธรณ์ไปหลายเรื่องที่อยากให้ศาลท่านพิจารณา
ล่าสุดเวลา 15.00 น.เศษ ศาลอาญาพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์เเล้ว อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2-5 ระหว่างฎีกาโดยตีราคาประกันคนละ 2 เเสนบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ