รายการ “ถอนหมุดข่าว”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 28 ก.พ.65 นำเสนอรายงานพิเศษ กำราบสายหื่น ข่มขืนซ้ำเจอแน่ ฉีดยาให้ ไข่ฝ่อ
เป็นข่าวร้ายของสายหื่นอย่างแท้จริง เมื่อสภาเห็นชอบกับการแก้กฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” ผ่านฉลุยวาระ 2 และ 3
โดยสาระสำคัญ คือการใช้ไม้แข็งกับพวกโรคจิต ที่ก่อคดีข่มขืนซ้ำซาก ด้วยการฉีดยาให้ฝ่อ หรือหมดสมรรถภาพทางเพศไปเลย จะได้ไม่ต้องไปก่อกรรมทำเข็ญกับใครอีก
มาตรการนี้ มีการระดมความคิดเห็นกันมานานเป็นปีๆ ให้เกิดความเหมาะสมลงตัว และใช้ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่สโลแกนสะใจ ที่ไม่อาจเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติอย่าง “ข่มขืน เท่ากับ ประหาร”
เพราะถึงอย่างไร “ข่มขืน ก็ไม่เท่ากับ ประหาร” แต่ “ข่มขืนฆ่า เท่ากับ ประหาร” อยู่แล้ว
ผู้ผลักดันกฎหมายปราบสายหื่นครั้งนี้ คือ ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ปทุมวัน บางรัก สาทร และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า การฉีดยาให้ลูกอัณฑะฝ่อ เป็นเครื่องมือสำหรับป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ในคดีทางเพศ
การกระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นปัญหาที่รัฐจำเป็นต้องหาทางแก้ไข
เมื่อปี 2564 กรมราชทัณฑ์ได้เผยผลการวิจัย การเก็บสถิติย้อนหลัง ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศ
พบว่าผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวไป กลับมาทำผิดซ้ำภายในรอบ 1 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 1,037 ราย
กระทำผิดซ้ำภายในช่วง 2 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,700 ราย และกระทำผิดซ้ำภายในช่วง 3 ปี จำนวนทั้งสิ้น 2,111 ราย
ตัวเลขดังกล่าว บ่งชี้ว่าสังคมไทย กำลังถูกคุกคาม โดยผู้ต้องหาขังคดีทางเพศ ที่ย่ามใจกลับมาก่อเหตุซ้ำกันอย่างคึกคัก หาได้มีความเข็ดหลาบไม่
จึงจำเป็นต้อง “ตอน” คนร้ายโรคจิตซ้ำซากพวกนี้ ซึ่งชัดเจนแล้วว่า ลำพังโทษติดคุก ไม่สามารถดัดสันดานให้เป็นคนดี
วิธีการนี้ ถือเป็นวิธีการอันศิวิไลซ์ หลายประเทศในเอเชีย ยุโรป และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา นำมาใช้กันแล้ว ก็ส่งผลให้ตัวเลขคดีทางเพศลดลงบ้าง
ทั้งนี้ สายหื่นที่โดนตอนด้วยยา จะยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยกเว้นขาดฮอร์โมนเพศชาย ที่เป็นตัวการป่วนอารมณ์และความยับยั้งชั่งใจ และที่สำคัญ อยู่ในสภาพพิการ “นกเขาไม่ขัน” ชั่วคราว เพราะฤทธิ์ยา
ในเชิงจิตวิทยา
การจับฉีดยาให้ไข่ฝ่อ น่าจะเป็นข่มขวัญให้ผู้กระทำผิดเกิดความหวาดกลัวได้ในระดับหนึ่ง เพราะชายชาตรีนั้น ต่างให้ความสำคัญกับเจ้าโลกของตัวเอง ไม่อยากเสี่ยงให้เกิดความฝ่อและห่อเหี่ยว ด้วยประการใดๆ
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็มีผลข้างเคียงที่อาจตามมาเช่นกัน ประการแรก การเพิ่มโทษคดีทางเพศ อาจเกิดผลมุมกลับ แทนที่เหยื่อจะมีชีวิตรอดได้ ก็อาจถึงขั้นฆ่าปิดปากไปเลย เพราะคนร้ายมองว่าการตัดพยาน คือการเพิ่มทางรอดให้ตัวเอง
ประการที่สอง การฉีดยาให้อัณฑะฝ่อ ให้เจ้าโลกหดหู่ ต้องใช้งบประมาณ และกำลังคนมากเลยทีเดียว โดยแต่ละรายจะต้องถูกฉีดยาทุก 3 เดือน เพื่อให้เกิดภาวะฝ่อชั่วคราว ไม่ใช่ฉีดเข็มเดียว แล้วฝ่อถาวรตลอดชีวิต
ไหนยังต้องติดตามพฤติกรรมทางจิตวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมแล้วแต่ละปี รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเกิน 1 แสนบาทต่อราย
เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว สังคมไทยน่าจะเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะสร้างสังคมอันปลอดภัย ท่ามกลางความวิปริตของจิตใจคน ที่ตามมาพร้อมกับความเจริญทางวัตถุ และสิ่งเร้าต่างๆ นานา อย่างในปัจจุบัน