MGR Online - บช.น.เผย วันนี้มีชุมนุม 6 กลุ่ม“บิ๊กราญ” สั่งจัดกำลัง แนะนำเลี่ยง 9 เส้นทาง พิสูจน์ทราบแล้ว 9 คน กลุ่มทะลุวัง ชุมนุม 8 ก.พ. ที่สยามพารากอน แจ้ง 5 ข้อหา
วันนี้ (17 ก.พ.) เวลา 12.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวว่า ในวันนี้มีการนัดหมายชุมนุมทางการเมือง 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ที่หน้าวัดมกุฏกษัตริย์ เลียบคลองผดุงกรุงเกษม (พักค้างแรม) 2. กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ (พักค้างแรม) 3. กลุ่มสหพันธ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.) ที่หน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ใต้สะพานพระราม 8 (พักค้างแรม) แล้วเคลื่อนไปกระทรวงเกษตรฯ 4. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เวลา 08.00 น. ที่หน้าสำนักงาน กพ. 5. กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร เวลา 16.00 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 6. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ เวลา 17.30 น. ที่หน้าศาลฎีกา และ 7. เฝ้าระวัง กลุ่มทะลุแก๊ส เวลา 17.30 น.
บช.น.ย้ำว่า แม้กรุงเทพฯประกาศเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (สีฟ้า) การชุมนุม หรือรวมตัวทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคเข้าข่ายความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พล.ต.ท.สําราญ นวลมา ผบช.น.ได้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเน้นย้ำปฏิบัติภายใต้กรอบของกฏหมาย เส้นทางที่อาจได้ผลกระทบและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน, ลงโทลล์เวย์งามวงศ์วาน, สะพานข้ามแยกบางเขน, สะพานข้ามแยกพงษ์เพชร ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ถนนอโศก-ดินแดง, ถนนวิภาวดีรังสิต, ซอยพหลโยธิน 2, ทางลงด่วนดินแดง, อุโมงค์ดินแดง ตั้งแต่เวลา 16.00 น.
สำหรับการชุมนุมของ 5 กลุ่ม เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ได้แก่ 1. กลุ่ม สกท. 2. กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 3. กลุ่ม คนท. 4. กลุ่ม กฟก. 5. กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร สรุปการดำเนินคดีตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 รวมทั้งสิ้น 821 คดี สอบสวนสั่งฟ้องแล้ว 474 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 347 คดี ทั้งนี้ กรณีการชุมนุมของกลุ่ม ทะลุวัง ที่ห้างสยามพารากอน และแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้พิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิดแล้ว 9 ราย จะข้อหา 1. กระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรฯ 2. ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ฯ 3. ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ฯ 4. ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ 5. ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควรฯ เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง บช.น.ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายเรียกผู้กระทำผิดรายอื่นต่อไป
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า กรณีองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International Limited หรือ AI) ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้พิจารณาการขอต่อใบอนุญาตในไทย ว่า กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และภาพลักษณ์รัฐบาลหรือไม่ หลังมีการรณรงค์ต่อต้าน และเรียกร้องให้ขับไล่องค์กรออกจากประเทศไทยนั้น จริงแล้วไม่ใช่หน้าที่ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยตรง แต่มีหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือบริษัทต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง ยืนยันว่า ถ้าไม่กระทำการฝ่าฝืน หรือสุ่มเสี่ยงละเมิดกฎหมายก็ไม่ต้องไปกลัว ตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 มีการชุมนุมทั้งสิ้น 3,500 กว่าครั้ง ทั่วประเทศ ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย และพยานหลักฐานอยู่แล้ว ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่มีตามกฎหมาย.