xs
xsm
sm
md
lg

ตร.แจ้ง 2 ข้อหา “เค ร้อยล้าน” คลั่งอีก ยัน เป็นผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวน วอน สังคมเห็นใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - บช.น.เผย สน.ปทุมวัน ปรับ 2 ข้อหาเค ร้อยล้าน” คลั่งอีกแล้ว ปาขวดในห้างย่านปทุมวัน พบก่อเหตุที่สนามบินด้วย ชี้ เป็นความผิดลหุโทษ วอน ครอบครัวดูแลใกล้ชิด ปล่อยปละละเลยมีความผิด ส่วนตำรวจมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ประสาน รพ.มีมาตรการรักษา สังคมอย่าดูหมิ่น อยากให้เห็นใจ

วันนี้ (14 ก.พ.) เวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงกรณี “เค ร้อยล้าน” ชายคลั่งอาละวาดปาขวดแก้วในห้างย่านปทุมวัน เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) ว่า จากการตรวจสอบเป็นคนเดียวกับที่เคยก่อเหตุทำร้ายตนเองและปล่อยงู ที่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือน เม.ย. 62 และกลางถนนราชดำริ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พื้นที่ สน.ลุมพินี ส่วนกรณีล่าสุด พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เปรียบเทียบปรับข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญฯ, ทำให้เกิดเสียง หรือกระทำความอื้ออึงฯ” ยังพบก่อเหตุ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ บช.ภ.1

ตำรวจจึงนำตัวส่งรักษา รพ.สมเด็จเจ้าพระยา แพทย์ลงความเห็นว่า เป็นโรคจิตอารมณ์แปรปรวน มีการรักษาตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.- 7 พ.ค. 62 รวมถึงรอผลตรวจหาสารเสพติด แอลกอฮอล์ และสภาพจิตจาก รพ.ตำรวจ เมื่อเป็นผู้ป่วยภายใน รพ.จึงเห็นว่า ควรรักษาเหมือนผู้ป่วยภายนอกมารับยาประจำ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ไปรับยาจนถึงวันก่อเหตุ 1 ก.พ. ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นลหุโทษ อาทิ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบก โทษเปรียบเทียบปรับ จบในชั้นพนักงานสอบสวนไม่ต้องฟ้องศาล ส่วนความผิดซ้ำๆ สามารถส่งให้ศาลปรับได้หรือไม่ เนื่องจากคดีเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนปรับและจบในชั้นสอบสวน

กรณีสังคมมองว่าเหตุใดถึงปล่อยปละละเลยทำผิดซ้ำ อาจก่อเหตุอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สินได้นั้น การปฏิบัติของตำรวจอ้างอิงถึงผลของแพทย์เป็นหลัก ยังไม่พบผู้ต้องหาก่อความรุนแรงให้เกิดอันตรายกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ควรต้องดูแลกันหลายส่วน 1. คนในครอบครัว ผู้ดูแล หากปล่อยปละละเลยให้บุคคลวิกลจริตไปเที่ยวตามลำพังจะมีความผิด 2. ตำรวจ กรณีก่อเหตุหลายครั้งจะประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบ นำข้อมูลการก่อเหตุประสาน รพ.เพื่อมีมาตรการบังคับรักษาเป็นผู้ป่วยภายใน อยากประชาสัมพันธ์ให้ญาติ และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ กรณีมีผู้ป่วยคนในครอบครัวต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก


พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยทางจิต หรือประสาท จะแบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการ กรณีดังกล่าวคือผู้ป่วยที่แสดงอาการ และจะแบ่งเป็นแสดงอาการรุนแรง และไม่รุนแรง ที่ผ่านมา ในพื้นที่ บช.น.เป็นในเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ดูผิวเผินอาจบันดาลโทสะ แต่จริงแล้วเป็นผู้ป่วยและมีบัตรประจำตัวเข้ารับการรักษา ฝากถึงสังคมว่าอย่าไปดูถูกดูหมิ่นอยากให้เห็นใจว่า บุคคลเหล่านี้เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผู้ป่วยแล้วผู้ที่มีหน้าที่ดูแลต้องเอาใจใส่ กรมสุขภาพจิต ทำงานอย่างหนักอยู่แล้วออกคู่มือให้ปฏิบัติตาม มีสายด่วนให้การปรึกษา

“แนวทางการป้องกันเหตุของตำรวจคงทำได้ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้ทราบว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นในเรื่องนี้ ต้องเอาในใส่เป็นพิเศษเพื่อเป็นการป้องกันเหตุซ้ำ” รองโฆษก ตร.กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น