“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ตอน ภูมิใจไทย งัด "บิ๊กป็อก" ระเบิดเวลาลูกใหญ่พรรคร่วมรัฐบาล
ศึกงัดข้อแกนนำรัฐบาล จากปมความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร จนทำให้ภูมิใจไทยที่คุมกระทรวงคมนาคม และเคลื่อนไหวคัดค้านการทำสัญญามาตลอด ออกแอ็คชั่นแรงๆ
ด้วยการที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคที่นำโดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แท็กทีม ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ปมปัญหา การต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงมหาดไทย ต้องการให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือBTSC ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ไปเป็นปี 2602 แลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย
ทำให้ ภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.เป็นอันดับสองในรัฐบาล เปิดหน้า ทำศึกกับ บิ๊กป๊อก มท. 1 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และมีบริษัทบีทีเอสซี ที่มีเจ้าสัว คีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้นใหญ่
สุดท้าย คณะรัฐมนตรี เลือกใช้วิธีซื้อเวลาด้วยการให้ กระทรวงมหาดไทย ไปทำคำชี้แจงในประเด็นข้อทักท้วงการต่อสัญญาดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคมทักท้วงไม่เห็นด้วย ที่ทำออกมาสี่ประเด็น
คือเรื่องค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ศักดิ์สยาม และภูมิใจไทย ชูเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักว่าค่าโดยสาร65 บาทตลอดสาย เป็นอัตราค่าโดยสารที่สูงเกินกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบันเสียอีก อันจะมีผลทำให้ประชาชนแบกรับภาระค่าครองชีพมากเกินความจำเป็น
ภูมิใจไทยให้เหตุผลว่าเพราะปัจจุบัน ประชาชน เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเฉลี่ย130 บาทต่อวัน ที่คิดเป็น 35 เปอร์เซนต์ของค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งสายสีเขียวเปิดให้บริการมา 21 ปี ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว มีผู้โดยสายเฉลี่ยวันละแปดแสนถึงหนึ่งล้านคน ในช่วงก่อนเกิดโควิด คมนาคม จึงเห็นว่า สามารถกำหนดค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาทได้
สำหรับ สายสีน้ำเงิน เป็นโครงการที่รัฐลงทุน ส่วนสายสีเขียว บริษัทบีทีเอสซี ลงทุนงานโยธาและระบบเอง แต่เพราะเป็นรายละเอียดที่ซับซ้อน จึงทำให้การหักล้างของกทม.และเอกชน กับฝ่ายคมนาคม ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก เพราะคนจะฟังเรื่องค่าโดยสาร ต้องถูกไว้ก่อน
จึงไม่แปลกที่กองเชียร์ในฝั่งภูมิใจไทย จะหนาตากว่า ฝั่งมหาดไทยและบริษัทเอกชนค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกสามประเด็นที่คมนาคมคัดค้านเช่นการรองรับระบบตั๋วร่วม -ความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมายเป็นต้น
ที่สุดท้าย กระทรวงมหาดไทยขอเวลาในการเคลียร์เรื่องนี้สองสัปดาห์ และจะนำวาระร้อนที่มีผลประโยชน์ชาติหลายแสนล้านบาท กลับมาให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง ภายในสองสัปดาห์ข้างหน้าต่อจากนี้ หลังพลเอกประยุทธ์ นายกฯ ระบุชัดเรื่องนี้ต้องจบได้แล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือการซื้อเวลาออกไปของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ3 ป. ที่ไม่กล้าหักกับภูมิใจไทย ด้วยเหตุผลหลายอย่างโดยเฉพาะคงประเมินแล้วว่า เรื่องค่าโดยสารต้องต่ำกว่า 65 บาท ยังเป็นเรื่องที่ ฝ่ายบิ๊กป๊อก ยังตกเป็นรอง ศักดิ์สยาม อยู่เยอะ เลยต้องประวิงเวลาไว้เพื่อรอเคลียร์ระเบิดลูกนี้ก่อน
แต่ท่าทีของกระทรวงมหาดไทย คงไม่ยอมถอย เพราะเป็นปมสัญญาที่ยืดเยื้อมาหลายปี แม้ที่ผ่านมาจะมีการพยายามหาทางออกหลายวิธีเช่น การให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการมาศึกษาพิจารณาเรื่องนี้กินเวลาหลายเดือน
ซึ่งข้อสรุปเวลานั้นเสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการพบว่า ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานออกไปเพราะสัมปทานยังเหลืออีกหลายปี กว่าจะถึงปี 2572
ข้อเสนอของกรรมาธิการคือให้ ดำเนินการทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ไปก่อน หากสิ้นสุดสัญญาภายในปี 2572 ให้ใช้วิธีเปิดประมูลโครงการเพื่อจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายใหม่ไปเลยด้วยรูปแบบให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ PPP อันเป็นข้อสรุปที่เข้าทางภูมิใจไทยและศักดิ์สยาม แต่ไม่ถูกใจ กระทรวงมหาดไทยและเอกชนอย่างยิ่ง
ปมร้อนสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงเป็น ระเบิดเวลาการเมืองอีกลูกหนึ่งที่รออยู่ สำหรับแกนนำรัฐบาลสาย 3 ป. กับภูมิใจไทย หาก บิ๊กป็อก ถอยดื้อๆ คงเสียหน้า เพราะหนุนมาอย่างเต็มสูบ เคยนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมครม.7 ครั้งแล้วแต่ไม่ได้ข้อสรุป
แต่ตอนนี้ต้องทุบโต๊ะ เนื่องจากสถานการณ์รัฐบาลคงอยู่อีกไม่ นาน เรื่องไหนสำคัญๆ ผลประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ต้องเร่งแล้ว
ขณะที่ ภูมิใจไทย เมื่อเปิดหน้าชนแล้ว
หลังจากนี้ จะยอมถอยง่าย ๆ ก็เสียเหลี่ยมทางการเมือง จะถูกด่าได้ว่า เอาประชาชนมาอ้างในการคัดค้าน แต่สุดท้ายหากถอยกลางคัน ย่อมถูกมองไปในทางเสียหายได้
แต่นายศักดิ์สยาม ประกาศมาชัดเจนแล้วว่า หากในการประชุม ครม. ครั้งต่อๆไปทางกระทรวงมหาดไทย จะยังมีการเสนอ วาระดังกล่าว เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทางพรรคภูมิใจไทย จะแสดงท่าทีอย่างไรนั้น ยืนยันว่า หากกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระดังกล่าวกลับเข้ามา และมีการทำให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย และ หลักธรรมาภิบาล ทางพรรคภูมิใจไทยก็จะสนับสนุน
แต่ถ้ายังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย ก็บอกได้เลยว่า พรรคภูมิใจไทยจะยังคงคัดค้านเหมือนเดิม เพราะหากไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้อง จะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย
.