MGR Online - บช.น.แถลงสืบ บก.น.6 ล่อจับหนุ่มวัย 37 ปี อดีตพนักงานคอมพิวเตอร์ ร่วมกับคนรู้จัก เปลี่ยนอาชีพมาทำเอกสารปลอม ขายทั้งป้ายภาษี ใบขับขี่ บัตรประชาชน ราคา 2,300-8,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 300 แผ่น ตำรวจแนะวิธีสังเกต เหมือนจริงมาก เตือน ระวังซื้อรถอาจแถมความผิด
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ต.ต.นิตินันท์ เพชรบรม รอง ผบช.น. พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.น.แถลงข่าว พ.ต.อ.นริศ ปรารถนาพร ผกก.สส.บก.น.6 และ ตำรวจ กก.สส.บก.น.6 จับกุม นายณัฐฉัตร หรือ โอ๊ด (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี พร้อมของกลาง 1. กระดาษป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปี (แบบยังไม่พิมพ์) 226 ใบ 2. กระดาษป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปี (แบบพิมพ์แล้ว) 17 ใบ 3. บัตรแข็งสำหรับพิมพ์บัตรประชาชน 13 ใบ 4. บัตรแข็งสำหรับพิมพ์ใบขับขี่ 8 ใบ 5. คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง 6. คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง และเครื่องพิมพ์ 4 เครื่อง ได้ที่ซอยราชวิถี 1 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ต่อเนื่องบ้านเลขที่ 134 ซ.วัดอัมพวา แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ต่อเนื่องบ้านเลขที่ 10/168 ซอยเพชรเกษม 110 แยก 14 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม
พ.ต.อ.นริศ กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สืบสวนปราบปรามจับกุมการกระทำผิดทางเทคโนโลยี 2 ส่วน 1. ฉ้อโกงหลอกลวง 2. จำหน่ายของผิดกฎหมาย หรือนำไปใช้กับสิ่งที่ผิดกฎหมาย จากการสืบสวนทราบว่า มีการจำหน่ายแผ่นป้ายภาษีรถ ใบขับขี่ และบัตรประชาชน จึงทำการติดต่อล่อซื้อกระทั่งสามารถจับกุมตัวได้ จากการสอบถาม นายณัฐฉัตร รับสารภาพว่า เคยทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ดูแลเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผู้ชักชวนให้ร่วมทำป้ายภาษีรถ ใบขับขี่ และบัตรประชาชนปลอม เนื่องจากมีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ จำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก ป้ายภาษีรถปลอม แผ่นละ 2,300 บาท ใบขับขี่ปลอม และบัตรประชาชนปลอม ใบละ 8,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ ประมาณ 300 แผ่น เท่ากับว่ามีรถป้ายภาษีไม่ถูกต้องอยู่บนถนนเดือนละ 300 คัน รายได้เฉลี่ยหลักแสนบาทต่อเดือน
เตือนประชาชนซื้อรถแล้วติดป้ายภาษีไม่ถูกต้องมีความผิดข้อหา “ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม” แนะนำควรตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง เนื่องจากมิจฉาชีพโจรกรรมรถ หรือนำรถที่หลุดจำนำมา แล้วนำเอกสารเหล่านี้ประกอบขาย บัตรประชาชนปลอมวิธีสังเกตจะไม่มีลายน้ำ ใช้ก่อเหตุหลอกลวงเรื่องการสมัครบัญชีธนาคารแต่ค่อนข้างยาก หลักๆ นำไปใช้หลอกอย่างอื่น มีลูกค้ามาจ้างอยู่เรื่อยๆ ส่วนป้ายภาษีจะเหมือนของจริงมาก ถ้าคนไม่มีความชำนาญ หรือความรู้ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปอาจดูไม่ออก แยกออกเป็น 2 ประเภท 1. สีชมพู รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ 2. สีม่วง รถบรรทุก วิธีสังเกตตัวบัตรหนากว่าปกติ บาร์โค้ดไม่ชัดของจริงจะซึมมาถึงด้านหลัง ลูกค้าไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นใครอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลจับกุม รวมถึงผู้ร่วมขบวนการเชื่อว่า นายณัฐฉัตร ไม่ได้ทำคนเดียว
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ปลอมเอกสารราชการ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ก่อนนำตัวผู้ต้องหาพร้องของกลางส่งพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป