รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 25 ม.ค.65 นำเสนอรายงานพิเศษ ย้อนซาอุฯ แค้นไทย 32 ปีคดีอุ้มอัลรูไวลี่
จากปี 2533 ถึงปี 2565 หรือยาวนานร่วม 32 ปี ที่สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย อยู่ในสภาพเลวร้าย
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยแทบทุกชุด ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหารอยร้าวของสองชาติ แต่ซาอุฯ ไม่เคยใจอ่อนให้ไทย
ไปๆมาๆ กลายเป็น “ม้ามืด” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ทำได้สำเร็จ ชนิดหักปากกาเซียน
บิ๊กตู่ได้ไปเยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการ และได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมของซาอุฯ ระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. 2565
โดยจะมีการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต หลังเสร็จสิ้นการพบปะหารือกัน
เป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับซาอุฯ เพราะเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก ในรอบกว่า 30 ปีเลยทีเดียว
กาลเวลายาวนานขนาดนี้ หลายคนเกิดไม่ทัน หลายคนลืมเลือนไปหมดแล้ว มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น นำมาสู่ความร้าวฉาน “ไทย-ซาอุ” ที่แทบจะสิ้นหวัง
เรื่องของเรื่อง ก็เพราะมีคนไทยสร้างเรื่องอัปยศให้ซาอุฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนงานไทยขโมยเพชรจากวังซาอุฯ ตำรวจอมโคตรเพชรของกลาง ตำรวจส่งคืนของกลางด้วยเพชรเก๊
มาจนถึงการสังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ ในไทย และตำรวจอุ้มฆ่าพ่อค้าชาวซาอุฯ
ทุกเรื่องที่ว่ามา มีความร้ายแรงทั้งสิ้น แต่ในความรู้สึกของทางการซาอุฯ เรื่องที่เลวร้ายเกินอภัยมากที่สุด ก็คือคดีอุ้มฆ่าพ่อค้าซาอุฯ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ เพราะเขาเป็นเชื้อพระวงศ์
หลังเกิดเหตุฆ่าเจ้าหน้าทูตซาอุฯ 2 ปีซ้อน เมื่อปี 2532-2533 รวม 4 ศพ ก็เกิดอีก 1 คดีตามมา คือการอุ้มนายอัลรูไวลี่ จนหายสาบสูญไปจนทุกวันนี้
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ในวงการตำรวจและนักข่าวอาชญากรรม เมาธ์กันแซ่ดตั้งแต่หลังเกิดเหตุไม่นาน รู้ว่าเขาตายอย่างไร ตายที่ไหน ศพถูกเผาทำลายที่ไหน ฝีมือทีมใคร แทบไม่ใช่เรื่องลับอะไรเลย
จริงๆ ก็เป็นเจตนาดีของตำรวจไทยที่ต้องการคลี่คดีฆ่าทูต แต่ด้วยโลกทัศน์ที่คับแคบของทีมสืบสวน จึงตั้งประเด็นสังหารผิดพลาด
คดีฆ่าทูต แท้จริงเป็นความขัดแย้งจากต่างประเทศ นำมาสู่การไล่ฆ่าทูตซาอุฯ ในหลายประเทศ รวมถึงในไทย
แต่ตำรวจไทยไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ เลยเอาแต่พุ่งไปที่ปมขัดแย้งธุรกิจส่งคนงานไปซาอุฯ เนื่องจากยุคนั้น ซาอุฯ เป็นดินแดนที่คนไทยแห่ไป “ขุดทอง” หรือทำงานก่อสร้างกันหลายแสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศ ปีละเป็นหมื่นล้าน
ตั้งประเด็นผิดไม่พอ ยังใช้วิธีการผิดๆ แบบที่ทำกับโจรไทยมานาน คืออุ้มอัลรูไวลี่ไปรีดเค้น เพราะทึกทักเอาว่าเขารู้อะไรดีๆ จนเชื้อพระวงศ์ซาอุฯ ตายคามือ
เทียบเคียงกับคดีสมัยใหม่ ก็คล้ายกับคดี “ผู้กำกับโจ้” ทรมานผู้ต้องหาจนตาย เพราะหนักมือไปหน่อย
ข่าวลือในแวดวงตำรวจและนักข่าว พูดกันว่า อัลรูไวลี่ถูกอุ้มพาไปยังโรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่ง ย่านคลองตัน แล้วมีกระบวนการรีดเค้น ขู่จะใช้ไฟฟ้าชอร์ตไข่ ทำเอาชาวซาอุฯ ผู้น่าสงสาร กลัวจนหัวใจวาย
ขั้นตอนทำลายศพ ก็พูดกันว่า ศพถูกเผาจนป่นในไร่แห่งหนึ่ง ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ทางการซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่นั้น ด้วยการห้ามมิให้คนซาอุฯ เดินทางมาไทย การไม่ออกวีซ่าให้คนไทยไปทำงานในซาอุฯเพิ่มขึ้น การไม่ให้การตรวจลงตราไป-กลับ
รวมถึงยกเลิกเอกอัครราชทูต ให้เหลือแค่อุปทูตประจำประเทศไทย
พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม มือปราบชื่อดัง ตกเป็นจำเลยคดีนี้ โดยมีญาติอัลรูไวลี่ เป็นโจทก์ร่วม ในการฟ้องร้องต่อศาลไทย
ขณะเกิดเหตุ “สมคิด บุญถนอม” มียศแค่ พ.ต.ท. แต่เพราะเป็นคดีปริศนาอันยาวนานราวหนังชีวิต เขารับราชการไป สู้คดีไป จนมียศสุดท้ายเป็น พล.ต.ท. โดยไปไกลถึงตำแหน่ง ผู้ช่วยผบ.ตร.
พล.ต.ท.สมคิดชนะคดีนี้ทั้ง 3 ศาล แม้จะเคยมีพยานหลักฐานใหม่ เป็นคำให้การของ พ.ต.ท. ในทีมอุ้ม และแหวนที่อ้างว่าเป็นของอัลรูไวลี่ แต่ก็ไร้น้ำหนักความน่าเชื่อถือ
แต่แล้ว โลกหมุนไป ซาอุฯ ก็มีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ มีมุมมองเปลี่ยนไป พอกันทีความแค้นเก่าอันยาวนาน
“บิ๊กตู่” เลยส้มหล่น ได้สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยประการฉะนี้