“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 19 มกราคม 2565 ตอน “บิ๊กตู่”ลุยไฟ ล้อมคอก NGOs ตีตรา-ล่ามโซ่-ตัดน้ำเลี้ยง
กำลังเป็นที่สนใจในวงแคบๆ สำหรับร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมาย NGOs” ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มอบให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่
โดยพิจารณาหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ที่ผ่านมติ ครม. เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มาผนวกรวมกับหลักการในข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปรับปรามก่อนการฟอกเงิน จำนวน 8 ประเด็น ตามมติคณะรัฐมนตรี 29 มิถุนายน 2564
มีสาระสำคัญ 5 ประเด็น เช่น ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มิเช่นนั้นจะมีความผิดอาญา
ต้องเปิดเผยแหล่งที่มา จำนวนของเงิน บัญชีที่รับเงิน หรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี โดยต้องใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้เท่านั้น และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี รวมถึงรายงานการสอบบัญชีเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วย
การออกกฎหมายคุมNGOs ถือเป็นจังหวะ “ลุยไฟ” ของ “ฝ่ายอำนาจ” ที่มีเป้าหมาย “ล้อมคอก” องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร หรือ NGOs ซึ่งมีจุดยืนและการเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามกับรัฐบาลแทบทุกชุดมาโดยตลอด
จึงที่ผ่านมา “NGOs” ในไทยต่างถูกตราหน้าว่า “รับเงินต่างชาติมาล้มรัฐบาล"
“รัฐบาลประยุทธ์” ตั้งแต่สมัย คสช. จนมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ถูกNGos ขยี้ประเด็น “สิทธิเสรีภาพ-สิทธิมนุษยชน” อย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจาก “กรวดในรองเท้า” ที่สร้างความรำคาญใจให้กับ “บิ๊กตู่” เป็นอย่างยิ่ง
อีกทั้งหลายโปรเจ็กต์สำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ต้องสะดุดหยุดลง เพราะการเคลื่อนไหวของ NGOs โดยมีฉากหน้าเป็นประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน
โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ในนาม “คณะราษฎร 2563” ที่หลายองค์กรออกมาเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลในเรื่องสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น “แอมเนสตี้” หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล-แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มักออกแถลงการณ์ประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง
กระทั่งเลยเถิดไปถึงการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำม็อบที่เป็นผู้ต้องหาตามความผืด อาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จนมีกระแสจาก “อีกฝ่าย” ในการล่าชื่อขับไล่ “แอมเนสตี้” ออกจากประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็โดดรับลูกทันที ให้ดำเนินการตรวจสอบทางกฎหมายว่ามีความผิดหรือไม่ หากมีความผิด ก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ในการยกเลิกการอนุญาต กับองค์กรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
เดิมทีรัฐบาลประยุทธ์ก็ได้ตั้งแท่นเตรียมออกกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และร่างกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ไว้อยู่แล้ว
โดยเน้นไปที่การจัดระเบียบ NGOs ในไทย ผ่านกระบวนการ “ตีตรา-ล่ามโซ่-ตัดน้ำเลี้ยง” โดยออกข้อบังคับให้ขึ้นทะเบียน จำกัดกิจกรรม และกำกับเส้นทางการเงิน
แต่ดูท่าร่างกฎหมายเดิมจะยังไม่ “เข้มข้น” พอ ก็เลยยังค้างอยู่ในชั้นของ ครม. ไปไม่ถึงสภาผู้แทนราษฎร ที่เตรียมรับลูกอยู่เสียที ก็เลยมีการยกระดับข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยพุ่งเป้าไปที่การรับเงินทุนจากต่างชาติ
ในความจริง ต้องยอมรับว่า NGOs บางกลุ่มมีส่วนร่วมในการสร้างความวุ่นวายทางการเมืองไทย หลายประเด็นเคลื่อนไหวโดยมีวัตถุประสงค์ทาง “การเมือง” แอบแฝง
ขณะเดียวกันก็ “แหล่งหากิน” ของ “นักเคลื่อนไหวมืออาชีพ” ที่มีรายได้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีคำว่าองค์กรไม่แสวงหารายได้บังหน้า
ไม่เท่านั้นยังมี “NGOs เถื่อน” แอบแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลว่า NGOs Mujจดทะเบียนในไทยอย่างถูกต้องมีเพียง 87 องค์กรเท่านั้น
แต่ปรากฎว่า เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... เมื่อไม่กี่วันก่อน กลับมีการอ้างว่าเป็นการรวมตัวกันของ 1,867 องค์กร ที่ดูจะมากเกินความจริง
สะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของหลายองค์กรที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย เป็นองค์กรเถื่อน
ต้องจับตาต่อไปว่า “รัฐบาลประยุทธ์” ลุยไฟฝ่าแรงต้านของ NGOs จะสำเร็จลุล่วงหรือไม่
จะได้กระชากหน้ากาก “นักเคลื่อนไหวอาชีพ” ว่า ใครเป็นใคร ที่ไปรับเงินต่างชาติเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่อ้างว่าต่อสู้เพื่อสังคม