xs
xsm
sm
md
lg

ประกันภัยเบี้ยวกรมธรรม์โควิด ได้เอา เสียไม่จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว”ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 17 ม.ค.65 นำเสนอรายงานพิเศษ ประกันภัยเบี้ยวกรมธรรม์โควิด ได้เอา เสียไม่จ่าย



ความรู้สึกของชาวบ้านที่ได้เห็นข่าวนี้ จะนึกถึงศัพท์ของวงพนันที่ว่า “ได้เอา เสียไม่จ่าย”

นั่นก็คือท่าทีของบริษัทประกันภัย 2 แห่ง ที่ชักธงรบกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

จะขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อเอาตัวรอดจากหายนะทางธุรกิจ

บริษัทประกันภัย 2 แห่งดังกล่าว ได้แก่ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย (มหาชน) และบริษัทไทยประกันภัย (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มเครือไทยโฮลดิ้งส์ หรือ TGH หนึ่งในธุรกิจของเจ้าสัวระดับท็อปทรีของเมืองไทย

พุ่งเป้าฟ้องไปที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวหา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลาง รับคดีไว้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

เจตนาเพื่อขอโละกรมธรรม์โควิด รวมถึงขอความคุ้มครองที่จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าเคลม

ซึ่งงานนี้ ต้องเรียกว่า มวยถูกคู่ เพราะ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ก็มีความรู้แตกฉานด้านกฎหมาย เป็นดอกเตอร์จบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ผ่านงานเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลแพ่ง โฆษกศาลยุติธรรม รวมถึงเป็นเลขาธิการ กกต. มาแล้ว

ที่มากกว่าความแม่นยำในข้อกฎหมาย ก็คือจุดยืนที่ชัดเจน ในการปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ให้โดน “ลอยแพ”

ซึ่ง ณ ขณะนี้ ก็มีลูกค้าถือกรมธรรม์โควิดมากกว่า 10 ล้านคน

ช่วงที่โควิดเดลต้าระบาดหนักเมื่อกลางปี 2564 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย เป็นหัวหอก ขอบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ อ้างว่าทนขาดทุนต่อไปไม่ไหว ท่ามกลางเสียงก่นประณามของคนทั้งประเทศ
แต่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ในฐานะนายทะเบียนของบริษัทธุรกิจประกันภัย มีคำสั่งไม่อนุมัติ ใครเคยมีสัญญากรมธรรม์กับลูกค้า จะต้องเป็นไปตามนั้นจนกว่าจะหมดสัญญา

นำมาสู่การปิดกิจการของบริษัทประกันภัย 2-3 แห่ง ที่ขาดทุนจนหมดสายป่าน

ทั้งนี้ หากย้อนไปตอนโรคโควิดอุบัติใหม่ๆ เมื่อต้นปี 2563 สถานการณ์ในเมืองไทยค่อนข้างสงบกว่าอีกหลายๆ ประเทศในโลก มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อแค่ไม่ถึง 2 คน ต่อประชากร 1 ล้านคนเท่านั้น

บริษัทประกันภัยต่างๆ สบช่องที่จะ “แปรวิกฤตเป็นโอกาส” หากินบนความหวาดกลัวของชาวบ้าน พากันเสนอแคมเปญ “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี คนแห่กันทำประกันโควิดกันฝุ่นตลบ บริษัทโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำแน่

แต่แล้ว การมาของโควิด สายพันธุ์เดลต้า ที่ระบาดหนักในไทย ระดับเกิน 2 หมื่นคนต่อวัน ช่วงกลางปี 2564 กลายเป็นสถานการณ์ที่พลิกผัน

บรรดาบริษัทประกันภัย เปรียบเหมือนคนที่กำลังหลงระเริงกับการซดซุปหูฉลาม แล้วจู่ๆ ก็โดนซุปหูฉลามลวกปากพอง จนช้อนหลุดมือ

ข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยโควิดล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 พบว่ามีกรมธรรม์ทั้งหมด 41.63 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,930 ล้านบาท ขณะที่ยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงกว่า 37,800 ล้านบาทเข้าไปแล้ว เรียกว่าขาดทุนกันแบบย่อยยับ

ขณะที่การมาของเชื้อตัวใหม่อย่างโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ก็ดันตัวเลขผู้ป่วยให้เริ่มทะยานขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่สายพันธุ์เดลต้า สงบซบเซาไปชั่วคราว

งานนี้จะเห็นว่า บริษัทประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจผิดพลาดเอง แต่กลับใช้วิธีการสู้แบบจนตรอก “ได้เอา เสียไม่จ่าย” ซะอย่างนั้น โลกก็เลยปั่นป่วนวุ่นวาย

“ไม่มีใครจะใหญ่เหนือกฎหมาย บริษัทจะบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่งไม่ได้ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยด้วย” ท่าทีของ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ นั้น ยืนหยัดชัดเจน

ที่เหลือก็คือ คำตัดสินจากศาลปกครองกลาง ว่าจะออกมาหน้าไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น