xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรม แถลง 2 ปี เผชิญโควิด-19 ใช้ “เทคโนโลยี-ระบบออนไลน์” จัดการคดีไม่ให้คั่งค้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
เลขาฯ ศาลยุติธรรม แถลง 2 ปีเผชิญโควิด-19 ใช้ “เทคโนโลยี-ระบบออนไลน์” จัดการคดีไม่ให้คั่งค้าง โดยพิพากษาเสร็จทั้งสิ้น 1,194,804 คดี ส่วนปี 2565 ศาลพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (14 ม.ค.) นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2564 ว่า ในรอบปีที่ผ่านมาหลายหน่วยงานรวมทั้งศาลยุติธรรมเองต่างต้องเผชิญกับวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คดีความต่างๆ ที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรมก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่คู่ความและประชาชนต่างๆ มีความเดือดร้อน ศาลยุติธรรมจึงนำเทคโนโลยีและพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีอยู่ มาอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเต็มที่ในทุกช่องทางที่กฎหมายสามารถดำเนินการได้โดยคุ้มครองสิทธิทางคดีของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลยด้วย โดยยังสามารถคุ้มครองสุขอนามัยของคู่ความและประชาชนที่ต้องติดต่อราชการของศาลไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นด้วยเหตุที่ต้องมาศาล

ในรอบปีที่ผ่านมา สถิติการพิจารณาพิพากษาคดีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค. 2564 ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีและกระบวนการพิจารณาอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประกอบกับการบริหารจัดการคดีที่จะมีการนัดพิจารณาคดีตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำหนดมาตรการ พบว่า ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกา พิจารณาพิพากษาคดีเสร็จทั้งสิ้น 1,194,804 คดี จากปริมาณคดีค้างเก่าและคดีรับฟ้องใหม่รวม 1,560,026 คดี (แบ่งเป็นคดีแพ่ง 1,030,906 คดี และคดีอาญา 529,120 คดี)

การส่งเสริมให้มีการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นในศาลชั้นต้น นอกจากช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ยังลดการเดินทางมาศาลที่ไม่จำเป็นของคู่ความด้วย ด้วยเหตุที่วิธีพิจารณาดังกล่าว ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ในปีนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ครบทุกบัลลังก์ เพื่อรองรับการพิจารณาคดีวิถีใหม่ New Normal ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เพื่อเพิ่มช่องทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาทางออนไลน์ให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นนอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกระบวนพิจารณาไปสู่วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกศาลยุติธรรมต้องมีความพร้อมด้วย สำนักงานศาลยุติธรรมจึงวางโครงการที่จะจัดอบรมหลักสูตรการพิจารณาคดีออนไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์รวมถึงทนายความ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในการบริหารจัดการคดีที่คั่งค้างอันเนื่องจากมีการเลื่อนนัดพิจารณาในช่วงที่ โควิด-19 ระบาดหนักนั้น ยังได้ดำเนิน “โครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการเพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีหรือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และกระจายความแออัดของคู่ความที่มาศาลอันจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น

แนวทางต่างๆ ที่ศาลยุติธรรมดำเนินการมาตลอดในปี 2564 ศาลได้ยึดมั่นอยู่บนหลักการอำนวยความยุติธรรมรูปแบบ “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย EASY ACCESS TO JUSTICE” ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น