รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 7 ม.ค.65 นำเสนอรายงานพิเศษ เปิดโปง บริษัท รปภ.เห็นแก่ตัว แหกกฏ เอาโจรมาเป็นยาม
รปภ.หื่น นายมนตรี ใหญ่กระโทก ไม่ใช่แค่ข่มขืนลูกบ้านคอนโดฯ แต่ยังข่มขืนระบบระเบียบราชการจนพังยับเยินด้วย
เพราะคดีนี้ เปิดโปงให้ชาวบ้านได้เห็นความเน่าเหม็น ฟอนเฟะ ของธุรกิจ รปภ. ที่เกี่ยวโยงไปถึงหน่วยงานตำรวจ
งานนี้จึงจะจบแค่ นายมนตรี ใหญ่กระโทก ติดคุกไม่ได้ แต่จะต้องมีคนรับผิดชอบตามมาอีกเป็นพรวน รวมถึงต้องมีการสังคายนาระบบกำกับดูแล รปภ. กันใหม่หมด
ไม่ให้คนรักษาความปลอดภัย กลายเป็นภัยเสียเอง
ประชาชนชาวคอนโด หอพัก แฟลต หมู่บ้านต่างๆ จะใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยงอันตรายแบบนี้อีกต่อไปไม่ได้
ทุกวันนี้ มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัย ทั้งสิ้นประมาณ 3,000-4,000 บริษัท จำนวน รปภ.มีร่วม 400,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งน่าเศร้ามากเพราะรปภ. ประเทศนี้ มีคนต่างด้าวหนีเข้าเมืองด้วย
ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คงไม่เกิดเหตุสะเทือนขวัญกลางกรุงเช่นนี้
เนื่องจาก พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ได้จัดวางระเบียบไว้อย่างดี เช่น อาชีพ รปภ. ต้องเป็นคนไทยแท้เท่านั้น ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ ที่คนต่างด้าวก็มาเป็น รปภ.ได้
แต่หลักเกณฑ์ที่ดีของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ คุณสมบัติต้องห้ามของคนเป็น รปภ. ต้องไม่เคยต้องโทษจำคุก คดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ ทรัพย์ ยาเสพติด หรือ การพนัน มาก่อน เว้นแต่จะพ้นโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี
แต่ที่ห้ามเด็ดขาด หรือแบนตลอดชีพ ไม่ให้มาเป็น รปภ. อย่างเด็ดขาด ก็คือ ผู้ก่อความผิดเกี่ยวกับเพศ
ต้องมีการตรวจประวัติผู้สมัครเป็น รปภ. ทุกคน ผ่านกองทะเบียนประวัติอาชญากร
แล้วเหตุใด อาชญากรต้องห้าม ผู้เคยก่อคดีทางเพศ ข่มขืนหลานตัวเองวัย 15 ปี เมื่อปี 2558 พ้นโทษเมื่อปี 2562 จึงผ่านเกณฑ์การคัดกรองมาได้
ทำไมทะเบียนประวัติอาชญากร ถึงไม่รู้ประวัติของนายมนตรี ใหญ่กระโทก ถือเป็นประเด็นที่น่าสงสัยมาก
พอผ่านการตรวจประวัติมาได้ นายมนตรี ใหญ่กระโทก จึงได้รับใบอนุญาตเป็น รปภ. มีลายเซ็นของนายทะเบียนชื่อ พล.ต.ต.ธิติ แสงสว่าง ตำแหน่งเป็นรองผบช.น. ในขณะนั้น
มีการขุดคุ้ย บริษัท การ์ดเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ต้นสังกัดของ รปภ.หื่น พบว่าชื่อเจ้าของบริษัท เป็นภรรยาของนายตำรวจ กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด
คำขวัญบริษัทที่ว่า “ปกป้อง คุ้มภัย มีระเบียบวินัย ใส่ใจบริการ” ดูจะสวนทางกับความจริงอย่างสิ้นเชิง
จะเห็นว่า ที่มาของ รปภ.หื่น วนเวียนอยู่ในแวดวงตำรวจทั้งนั้น ทั้งเจ้าของบริษัท คนตรวจประวัติ คนออกใบอนุญาต
สิ่งที่ต้องทำ แม้เป็นแค่การล้อมคอก นายทะเบียน คือ ผบช.น ต้องเพิกถอนหรือระงับใบอนุญาตบริษัท การ์ดเดอร์ (ไทยแลนด์)
เช่นเดียวกับผู้เสียหายเอง ก็สมควรฟ้องทั้งอาญาและแพ่ง ให้สาสมกับความจงใจแหกข้อกฎหมาย
นอกจากนั้น ได้เวลาจัดระเบียบ รื้อตรวจสอบประวัติ รปภ.เกือบ 4 แสนคน ทั่วประเทศใหม่หมด เพราะอาจมีรายการยัดไส้ นำคนต้องห้ามมาเป็น รปภ. อีกไม่รู้เท่าไร
แม้แต่หลักปฏิบัติ ยามเกิดเหตุเฉพาะหน้า รปภ.ทุกคนต้องรับรู้ให้ตรงกันว่า ตำรวจสามารถเข้าตรวจสอบได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นยามวิกาลหรือไม่ หากมีการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย
ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามไปถึงระบบการลดหย่อนผ่อนโทษของกระทรวงยุติธรรม เพราะนายมนตรี ใหญ่กระโทก เคยต้องโทษข่มขืนเยาวชน แต่ติดคุกแค่ 4 ปีเท่านั้น
พอก่อคดีข่มขืนผู้ใหญ่ ไม่แคล้วได้ลดโทษ ออกมาเป็นภัยสังคมอีก ในเวลาสั้นๆไม่กี่ปีเท่านั้น