ศาลแขวงดุสิตยกฟ้อง “มายด์ ภัสราวลี” ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมชุมนุมม็อบ 21 ตุลา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เคลื่อนไปทำเนียบเพื่อยื่นหนังสือให้ “ลุงตู่” ลาออก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (13 ธ.ค.) ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีแขวงดุสิต เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยี่ แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
กรณีเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือให้ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากการบริหารประเทศ
โดยช่วงเช้าวันนี้ น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ เดินทางมาฟังคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ต.ค.2563 ข้อ 1 กำหนดห้ามมิให้ชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขเหตุตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า จำเลยร่วมชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล พยานโจทก์ไม่เห็นจำเลย และพบจำเลยอีกครั้งบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ปรากฎจากพยานหลักฐานโจทก์ว่าจำเลยกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมในลักษณะที่ไม่สงบ และไม่ปรากฏว่า จำเลยมีอาวุธ หรือการกระทำที่รุนแรง
ส่วนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนฝ่าแนวกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนนั้น ก็ไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าจำเลยเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่รุนแรงอันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 จึงไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนด
ส่วนความผิดฐานมั่วสุมหรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยกระทำการใดอันเป็นการมั่วสุมหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การที่จำเลยกับบุคคลผู้มีชื่อรวมประมาณ 10,000 คน รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายนั้น เป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “มั่วสุม” ว่า ชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี
เมื่อฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกรวมตัวกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี จึงไม่ใช่การมั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ เปิดเผยว่า ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องตน เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวที่มีการประกาศออกมาจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์นั้นฉุกเฉินและร้ายแรงจริงๆ ถึงจะบังคับใช้ได้ และการชุมนุมของประชาชนที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก็ไม่เข้าข่ายการชุมนุมมั่วสุม เพราะการมั่วสุมต้องเป็นการรวมตัวกันและมีเจตนาที่ไม่ดี การชุมนุมวันนั้นเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้