MGR Online - สถาบันนิติวิทยาศาสตร์-กรมพินิจฯ บูรณาการตรวจสารเสพติดในเส้นผมเด็กเยาวชน พร้อมเฝ้าติดตามเป็นระยะ ไม่ให้กลับไปมีพฤติการณ์เสพยาซ้ำ
วันนี้ (2 ธ.ค.) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารสถาบันนิติวิทยาศาตร์ และ ผู้บริหารกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบป้องกันการเสพติดซํ้าของเด็กและเยาวชน โดยการตรวจสารเสพติดในเส้นผม” ที่ดำเนินการร่วมกับกรมพินิจฯ จนทำให้ล่าสุดได้รับถ้วยรางวัลระดับ Silver หลังส่งผลงานเข้าประกวดงาน Thailand Research Expo 2021 Award ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (THAILAND RESEARCH EXPO 2021) โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในเส้นผมในเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยเราได้จัดทำข้อสรุปสภาพปัจจุบันและแนวทางการพัฒนาของระบบการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในเส้นผม จนพบว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจฯ ได้ตระหนักและรับรู้ถึงผลร้ายของยาเสพติดมากขึ้นและไม่กลับไปเสพยาซ้ำอีก
ทั้งนี้ พ.ต.ท.หญิง อัมพิกา หัวหน้าโครงการวิจัย ยืนยันว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนกรมพินิจฯ จำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำสื่อวิดีทัศน์ให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทุกระดับ และเสนอแนะให้มีการจัดทำโครงการเชิงรุก เพื่อป้องปรามการเสพติดซ้ำในศูนย์ฝึกนำร่อง โดยทำการตรวจเด็กและเยาวชน เฝ้าติดตามเป็นระยะ ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินผลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่ต้นแบบการพัฒนาระบบการป้องกันการเสพติดซ้ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งติดตามดูแลเด็กและเยาวชนหลังปล่อยตัวอีกด้วย นอกจากนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังมีนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจสารเสพติดในเส้นผม ให้กับหน่วยงานด้านการตรวจพิสูจน์อื่นๆ เช่น สถาบันนิติเวชตำรวจ คณะนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจด้วย
“ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อยกระดับงานวิจัยของสถาบันนิติฯให้เป็นที่ยอมรับระดับชาติ และขณะนี้เราได้ร่วมกับกรมพินิจฯ ทำวิจัยต่อยอดจากเรื่องที่ได้รับรางวัล คือ การยกระดับความร่วมมือด้านการใช้เทคนิคตรวจสารเสพติดในเส้นผม เรามุ่งมั่นให้นิติวิทยาศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือ และสนับสนุนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงด้านอื่นๆ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนอย่างสูงสุด” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ ระบุ