MGR Online - สืบนครบาลรวบชาวจีนคาคอนโดฯ พระราม 9 เครือข่ายแอปฯเงินกู้นอกระบบ “Cash Go” ปล่อยกู้ไม่ครบจำนวน แต่ทำสัญญาเต็ม กำหนดชำระภายใน 7 วัน ไม่จ่าย โทร.ข่มขู่ ประจานใหัอับอาย พบเอาเงินซื้อ “คริปโต” 3 เดือน 40 ล้าน เปลี่ยนเป็น “บิตคอยน์” ก่อนโอนออกนอกประเทศเข้ากระเป๋านายทุน
วันนี้ (23 พ.ย.) เวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น.ในฐานะหัวหน้าศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.) บช.น. พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น.ในฐานะรองหัวหน้า ศปน.บช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.บช.น. ในฐานะเลขา ศปน.บช.น.และ พ.ต.ท.โอภาส หาญณรงค์ รอง ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. แถลงข่าวผลการปราบปรามและจับกุม นายเจี๋ย หลิว (Mr.JIE ) สัญชาติจีน เครือข่ายแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ พร้อมของกลาง สมุดบัญชีธนาคารต่างๆ ของบุคคลอื่น (บุคคลรับจ้างเปิดบัญชี) 17 เล่ม, โทรศัพท์มือถือ 23 เครื่อง, ซิมการ์ดโทรศัพท์ (จดทะเบียนในนามผู้อื่น) 13 ซิมการ์ด
พล.ต.ต.นิธิธร กล่าวว่า สืบเนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายว่า มีแอปเงินกู้นอกระบบออนไลน์ชื่อ “Cash Go” ปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลทั่วไปผ่านแอปโทรศัพท์มือถือ และเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยให้ผู้กู้ติดตั้งแอปดังกล่าว จากนั้นระบบจะขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รูปภาพ ตำแหน่งการใช้งาน และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ ให้ทำการกู้เงินจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลากำหนดชำระคืนภายใน 7 วัน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 234 ต่อปี หากลูกหนี้ไม่ชำระภายในกำหนดระยะเวลากำหนด จะให้พนักงานโทรศัพท์และส่งข้อความไปยังบุคคลที่สามในลักษณะข่มขู่ และประจานทำให้ผู้กู้เกิดความอับอายและเสียชื่อเสียง
มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก ตำรวจเร่งทำการสืบสวนจนทราบว่า กลุ่มเครือข่ายดังกล่าวมีนายทุนชาวจีนเป็นผู้ควบคุมดูแลแอปเงินกู้ พักอาศัยอยู่อาคารสยามคอนโดมิเนียม ถนนพระราม 9 ซอย 3 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายค้น ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา บก.สส.บช.น.ได้นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นห้องพักของนายทุนชาวจีนพบ นายเจี๋ย แสดงตัวเป็นผู้พักอาศัยในห้องพักดังกล่าว จากการการตรวจค้นพบของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดทั้งหมด
จากการสอบถาม นายเจี๋ย ให้การว่า ตนเป็นผู้ดูแลจัดการแอปเงินกู้ Cash Go, Royal Cash, Thai Cash, Cash Wai และ K Cash ถือสมุดบัญชีธนาคารผูกกับซิมการ์ดหมายเลขโทรศัพท์ที่มีบุคคลอื่นเปิดไว้ ตนมีหน้าที่ถือสมุดบัญชีพร้อมซิมการ์ดโทรศัพท์ของผู้อื่น เพื่อทำการโอนเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ และรับโอนเงินจากลูกหนี้ที่ผ่อนชำระเงินกู้ หรือเลื่อนการชำระเงินกู้หากลูกหนี้คนใดไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลากำหนด จะแจ้งให้พนักงานโทรศัพท์และส่งข้อความทวงหนี้ไปยังครอบครัว และบุคคลในที่ทำงานที่ลูกหนี้บันทึกรายชื่อไว้ในโทรศัพท์ ในลักษณะประจานและข่มขู่เพื่อให้ลูกหนี้เกิดความอับอาย
พล.ต.ต.นิธิธร กล่าวต่อว่า นายเจี๋ย เป็นคนคิดโปรแกรมเข้ามาอยู่ประเทศไทยนาน พูดไทยได้ อยู่กับภรรยาและลูกซึ่งเรียนอยู่เมืองไทย มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่ประเทศเมียนมา ใช้วิธีรับข้อมูลของผู้กู้หลายคน เมื่อได้เงินมาก็โอนเข้าบัญชีต่างๆ ตามที่ นายเจี๋ย ได้ไปหามา โดยติดต่อให้คนไทยเปิดบัญชี และเอา APM มาให้ ทุกบัญชีที่ตรวจยึดมีความเคลื่อนไหวแล้วไปเข้าอีกบัญชีของ นายเจี๋ย สุดท้ายเข้าบัญชีในการซื้อ คริปโตเคอร์เรนซี เมื่อบริษัทรับเงินจาก นายเจี๋ย ในรอบ 3 เดือน เป็นเงิน 40 ล้านบาท จากการเดินบัญชีประมาณ 10,000 ครั้ง ในการปล่อยกู้ให้กับคนไทย เสร็จแล้วเปลี่ยนเป็น บิตคอยน์ โอนเงินกลับไปให้นายทุนชาวจีนอีกราย เป็นการนำเงินออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมาย ขณะนี้ฝ่ายสืบสวนประสานกับพนักงานสอบสวน สน.โคกคราม สอบถามบริษัท คริปโตเคอร์เรนซี ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และต้องบอกข้อมูลว่า เจ้าของ บิตคอยน์ คนไหนได้รับผลประโยชน์ ถึงแม้จะอายัดไม่ได้แต่ต้องมีข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตนฝากบอกผ่านสื่อมวลชนว่าคิดจะตั้ง คริปโตเคอร์เรนซี ในเมืองไทยจะปฏิเสธการให้ข้อมูลกับตำรวจไม่ได้
แอป “Cash Go” ที่ใช้ในการหลอกลวงเมื่อลงทะเบียนแล้ว ต้องยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลรูปภาพ บุคคลในเบอร์โทรศัพท์ และเฟซบุ๊ก ผู้เสียหายคดีดังกล่าวได้ขอกู้เงิน 2,800 บาท แอปโอนเงินให้กู้ 1,625 บาท อ้างว่า เป็นค่าดำเนินการต่างๆ แต่ทำสัญญากู้ 2,800 บาท กำหนดชำระให้ครบภายใน 7 วัน ผู้กู้ไม่สามารถจ่ายครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องขอขยายระยะเวลาคืนเงินเสียค่าปรับ 800 กว่าบาท คิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 234 ต่อเดือน (ไม่หักเงินต้น) ตามกฎหมายต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าภายใน 7 วัน ชำระเงินได้ครบถ้วนก็จะได้วงเงินเพิ่มในการกู้ครั้งต่อไป เมื่อถูกทวงครั้งที่ 2 ไม่ไหว จึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สั่งการให้ตำรวจภาค 1-9 และ บช.น.หาผู้เสียหายและแหล่งเงินกู้นอกระบบ พบว่า ไม่เฉพาะคนไทย ยังมีคนต่างชาติเข้ามาขูดรีดขูดเนื้อคนไทย
พ.ต.ท.โอภาส กล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า บัญชีแถวที่ 1 ทำหน้าที่จัดการระบบบัญชีทั้งรับและจ่าย เมื่อรวบรวมได้หลายครั้งก็จะโอนไปยังบัญชีแถวที่ 2 จากนั้นโอนไปยังแถวที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลตัวเงินแล้วสรุปค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน เหลือเท่าไรจะโอนเข้ามาที่บัญชีแถวที่ 4 เป็นของ นายเจี๋ย จากนั้นจะแปลงโยกย้ายเงินออกนอกประเทศในรูปแบบ คริปโตเคอร์เรนซี สุดท้ายเข้ากระเป๋านายทุนชาวจีนที่อยู่ต่างประเทศผลประโยชน์ก็จะแบ่งกันไป
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย และเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด” ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 5, 11, 39, 41 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ก่อนนำตัวนำตัว นายเจี๋ย พร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สน.โคกคราม เพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้ ศปน.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ศปร.บช.น.และ สน.โคกคราม จะสืบสวนขยายผลออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว หากพบการกระทำความผิดก็จะออกหมายจับดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป