MGR Online - อธิบดีดีเอสไอ เผย เร่งขยายผลตามยึดที่ดินอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ ในพื้นที่ 5 จังหวัด มูลค่า 214 ล้านบาท คืนผู้เสียหาย
วันนี้ (25 ต.ค.) นายแพทย์ไตรฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ได้ขอความเป็นธรรมผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการสอบสวนกรณีอดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ กับพวก ทุจริตโดยการนำเงินออกจากสหกรณ์ฯ ด้วยวิธีปล่อยเงินกู้พิเศษให้แก่ตนเองกับพวก เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ต่อมา ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษที่ 21/2564 โดยเร่งดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เพื่อนำเงินชดใช้คืนสหกรณ์ฯ สมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อเยียวยาให้กับผู้เสียหาย นั้น
นายแพทย์ไตรฤทธิ์ เผยว่า ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองปฏิบัติการพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รอง ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา และ นายพงษ์ธวัช อ่วมสำอางค์ ผอ.ส่วนคดีการฟอกเงินทางอาญา 3 พร้อมคณะ ร่วมกับ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ร่วมกันบูรณาการลงพื้นที่ติดประกาศอายัดทรัพย์สินของอดีตคณะกรรมการสหกรณ์ฯ กับพวก ระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค. 64 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี และ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่ออายัดทรัพย์สินของอดีตคณะกรรมการสหกรณ์ฯ สืบเนื่องจากดำเนินการสอบสวนขยายผลการโอน เปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 หลังจากพบหลักฐานการโอนชำระเงินเพื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และยังพบอีกว่า ทรัพย์สินบางรายการอดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ ไปซื้อทรัพย์สินโดยยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ดินที่ออกโฉนดโดยวิธีการเดินสำรวจออกโฉนดที่ไม่มีหลักฐานเดิม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ จึงติดเงื่อนไขห้ามโอนมีกำหนด 10 ปี โดยเป็นการร่วมบูรณาการกับสำนักงานที่ดินในพื้นที่ ตำรวจ และปกครองอำเภอ ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวมจำนวน 110 รายการ มูลค่าประมาณ 214 ล้านบาท
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดด้วยการบูรณาการทางกฎหมาย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับทรัพย์สิน และมิให้ทรัพย์สินเสียหายหรือเสื่อมราคาลง เพื่อมิให้เกิดความเสียหายกับทุกฝ่ายในการอายัดทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นเยียวยาและชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 6,000 ราย และสหกรณ์พันธมิตรอีก 15 แห่ง ดำเนินการเชิงบูรณาการร่วมกับ สำนักงาน ปปง. ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ส่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อย่างเด็ดขาด ต่อไป