xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน “เบนจา” ปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง ชี้กล่าวถ้อยคำมิบังควร เคยได้ประกันตัวแต่ทำผิดเงื่อนไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันเบนจา อะปัญ” แนวร่วมม็อบธรรมศาสตร์ฯ ปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง หน้าอาคารซิโน-ไทย เมื่อ 10 ส.ค. 64 ชี้ พฤติการณ์กล่าวถ้อยคำมิบังควร เคยได้อนุญาตประกันตัวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีลักษณะเดียวกัน แต่ยังทำผิดเงื่อนไข หากปล่อยตัวอาจไปก่อความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าจะหลบหนี

วันนี้ (9 ต.ค.) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีที่ พนักงาน สน.ทองหล่อ ยื่นฝากขัง น.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดอื่นเกี่ยวกับการชุมนุมต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ

ตามกรณีเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ผู้ต้องหากับพวกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรมที่มีการปราศรัยหน้าอาคารซิโน-ไทย ทาวเวอร์ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม. กล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล และดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ชั้นสอบสวนจึงแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยผู้ขอประกันยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า วันนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง การกระทำที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีลักษณะเป็นการกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำอันมิบังควร ประกอบกับผู้ต้องหาเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีที่มีลักษณะข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันเบื้องสูง หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ผู้ต้องหากลับไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น