MGR Online - ราชทัณฑ์ โต้ “แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย” ยืนยันดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียม-ไม่เลือกปฏิบัติแม้ช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ให้หน่วยงานภายนอกตรวจสอบได้
วันนี้ (28 ส.ค.) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้ กรมราชทัณฑ์ คุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ว่า ตนในฐานะกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. กรมราชทัณฑ์ ได้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ อีกทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการ สิทธิในการอยู่อาศัยในเรือนจำที่ถูกสุขลักษณะ สิทธิในการได้รับการดูแลรักษาพยาบาล ตลอดจนสิทธิได้รับเครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่มที่สะอาด รวมถึงสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ซึ่งเป็นของใช้จำเป็นขั้นพื้นฐานให้กับผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
2. กรมราชทัณฑ์ ได้จัดสรรวัสดุอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดนโยบายการสวมหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และผู้ต้องขัง รวมทั้งการทำความสะอาดสุขอนามัยส่วนบุคคล สถานที่และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันควบคุมการระบาดของโรค และจากนโยบายดังกล่าวจึงได้แจกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย 3 ชั้น N 95 ถุงมือ แอลกอฮอล์เจล สบู่เหลว สบู่ก้อน น้ำยาทำความสะอาด ถุงขยะ ฯลฯ ตลอดจนวัสดุครุภัณฑ์ให้อย่างทั่วถึง พร้อมกันนี้ ได้จัดสรรงบประมาณให้เรือนจำจัดซื้อจากเงินงบประมาณประจำปี งบกลาง เงินสนับสนุนจากต่างประเทศ และการบริจาค สำหรับส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ยังได้บริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์บางส่วนสำหรับกรณีฉุกเฉิน ที่สำคัญ คือ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องยังพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานและทรัพยากรให้กับเรือนจำที่อยู่ในการดูแลตามระบบบริการสุขภาพอีกด้วย
3. กรมราชทัณฑ์ ได้สั่งการเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการจัดอาหารให้กับผู้ต้องขังอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ด้านการจัดซื้อ การตรวจรับ การจัดรายการอาหารตามหลักโภชนาการ โดยคำนึงถึงเรื่องคุณภาพอาหาร ความสะอาด และการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำรายการอาหารประจำวันให้ผู้ต้องขังได้รับทราบ ซึ่งการจัดอาหารเป็นไปตามความเหมาะสมตามสภาพของพื้นที่ และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยต้องให้มีคุณค่าทางโภชนาการตามที่กำหนดไว้ ส่วนกรณีผู้ต้องขังที่ป่วยก็จะมีการจัดอาหารแยกจากผู้ต้องขังทั่วไป รวมถึงอาหารผู้ต้องขังมุสลิม ก็ต้องแยกภาชนะในการปรุงอาหารอย่างชัดเจน อีกทั้งยังได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อเข้าตรวจสอบ รวมทั้งได้รับการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
4. ด้านการลดความแออัดในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ได้รับนโยบายจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้งในเรื่องการจัดทำที่นอนสองชั้นในเรือนจำและทัณฑสถาน รวมทั้งการเปิดทำการเรือนจำแห่งใหม่เพื่อทดแทนเรือนจำเดิม ซึ่งทำให้ปัจจุบันพื้นที่อัตราความจุของเรือนจำในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนต่อคนมากขึ้น ช่วยบรรเทาสภาพความแออัดในเรือนจำได้ดีขึ้นกว่าในอดีต ยิ่งไปกว่านั้น ได้วางแผนยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล มุ่งเป้าให้ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอน 1.6 ตารางเมตรต่อคน ตามมาตรฐานที่ใช้ในสำนักงานบริการโครงการแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office of Project Services - UNOPS) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross -ICRC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกรมราชทัณฑ์ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลและให้ผู้ต้องขังมีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับหลักสากลระหว่างประเทศ ซึ่งในส่วนกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมราชทัณฑ์ได้เน้นย้ำสั่งการให้เรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่งทั่วประเทศปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อเข้าเรือนจำและควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็วตามแนวทางของ ศบค.ยธ. และมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
5. กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมตามแนวทาง ของระบบบริการสาธารณสุข และโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่กำหนดให้ (1) เรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาล ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพ (2) เรือนจำทุกแห่ง มีเจ้าหน้าที่พยาบาลให้การดูแลรักษาในเบื้องต้น หากเกินขีดความสามารถจะส่งออกรักษาไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ดูแลรับผิดชอบเรือนจำ หรือส่งไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าตามความเห็นแพทย์ (3) รพ.แม่ข่ายที่รับผิดชอบเรือนจำจะส่งแพทย์ประจำสถานพยาบาล แพทย์เฉพาะทาง ทันตแพทย์ จิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เข้าตรวจรักษาผู้ต้องขังในเรือนจำ มีการใช้ video conference หรือการให้คำปรึกษาออนไลน์ และเรือนจำบางแห่งมีการจัดจ้างแพทย์ห้วงเวลาเข้าไปตรวจรักษาภายในเรือนจำด้วย (4) มีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำเรือนจำในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง ทั้งที่สถานพยาบาล และในเรือนนอนขณะถูกคุมขังเวลากลางคืน (5) กรณีฉุกเฉิน หากผู้ต้องขังเจ็บป่วยสามารถ ให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง (มีเจ้าหน้าที่เข้าเวรประจำ และเวร on call) และ (6) การลงทะเบียนสิทธิการรักษา พยาบาลประจำเรือนจำสามารถเป็นนายทะเบียนเพื่อลงทะเบียนสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วและแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
นายอายุตม์ กล่าวเสริมว่า ได้เน้นย้ำให้เรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของเรือนจำ (SOPs) โดยคำนึงถึงกรอบของกฎหมายและมาตรฐานสากลที่สำคัญ เช่น พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) อย่างเคร่งครัด โดยปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนและทุกคดีอย่างเท่าเทียม รวมทั้งไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด