xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “นายกฯ ประยุทธ์” มีอำนาจออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายอนัตต์ณังธะโคตร ญาณ์ธนโชติ หรือ “อาจารย์ชา” เจ้าของโครงการชุมชนธะธรรมชาติพื้นที่เขารอยต่อ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ (ตอนฟ้อง)
ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง คดี “อาจารย์ชา” เจ้าของโครงการชุมชนธะธรรมชาติพื้นที่เขารอยต่อ จ.เพชรบูรณ์ ฟ้อง “ประยุทธ์” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 14 -22 ต.ค. 63 เพื่อคุมม็อบชี้ นายกฯ มีอำนาจ เพื่อแก้ไขเหตุร้ายรุนแรงให้ทันท่วงที
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (17 ส.ค.) ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดำ 321/2564 ที่ นายอนัตต์ณังธะโคตร ญาณ์ธนโชติ หรือ “อาจารย์ชา” เจ้าของโครงการ “ชุมชนธะธรรมชาติพื้นที่เขารอยต่อ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์”, นางณัฐ์ชญาดา ณสิริ, นายกวีวัฒน์ เงินทอง, น.ส.จิราภรณ์ ดำจูด, นายสรรเสริญ พุทธสวัสดิ์, นายวุฑฒิกร พิมาย, นายแก้ว แซ่หลี, นายอรรถพล ศรีแก้วณวรรณ, นางสุภัคชา ก้อนคำ, นางฐิติรัตน์ ไชยหงษ์, นายอนุวงศ์ นิวาส, นายบุญสงค์ ก่ำรัมย์ โจทก์รวม 12 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (ชั้นตรวจฟ้อง)

โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14-22 ต.ค. 2563 จำเลยกับคณะรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่า มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวนปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งความจริงแล้ว การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เกิดความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ มิได้เกิดความรุนแรง จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและร้ายแรงที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การออกประกาศดังกล่าวเพื่อให้โจทก์และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมชุมนุมกระทำความผิด ล่วงละเมิดต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116

ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่โจทก์ตั้งเป็นข้อหาและขอให้ลงโทษ จึงพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 โจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่า ที่จำเลยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งให้อำนาจแก่จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะมีประกาศเช่นนั้นได้ หากปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล จึงมิได้เป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ส่วนจะมีเหตุให้จำเลยมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กล่าวอ้างหรือไม่นั้น เป็นความชอบด้วยกฎหมายในการมีประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก และพระราชกำหนดดังกล่าวก็มีเจตนาเพื่อให้มีการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที มิใช่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปหรือโจทก์ทั้ง 12 คน ล่วงละเมิดประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน


กำลังโหลดความคิดเห็น