xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.สั่งสอบ เรียกเก็บค่าศพ 1.7 หมื่นบาท แจงขั้นตอน พบผู้เสียชีวิตจากโควิด บนถนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย
MGR Online - รองฯ ต๊ะ เผย นครบาลจัดตำรวจ 90 นาย ร่วมลงพื้นที่คัดแยกผู้ป่วย ยัน กำลังเพียงพอไม่กระทบทุกภารกิจ สั่งตรวจสอบปมเรียกเก็บค่าศพ 17,000 บาท ผบ.ตร.สั่ง ผบช.ภาค และผู้การจังหวัด บริหารจัดการร่วมกับมูลนิธิ ให้มีประสิทธิภาพ ด้านรองโฆษก ตร.แจงกรณีพบศพติดเชื้อบนถนน ชี้ มีขั้นตอนมากกว่าศพปกติ

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวว่า กรณีตำรวจ ทหาร กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) ร่วมกันลงพื้นที่คัดแยกผู้ติดเชื้อ ตามชุมชนที่มีการแพร่ระบาดใน 50 เขตของกรุงเทพฯ บช.น.ได้จัดกำลังชุดสายตรวจทั้งหมด 18 สาย สายละ 5 นาย รวม 90 นาย แต่เนื่องด้วยช่วงนี้มีการแพร่ระบาดสูง จึงเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติมากขึ้น

นอกจากนี้ บช.น.และ กทม.ยังร่วมปฏิบัติภารกิจกับหน่วยงานอื่น อาทิ การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมกับสำนักงานเขตต่างๆ เพื่อตรวจตราสถานที่ว่าปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพฯหรือไม่, การตั้งจุดตรวจโควิด-19 ทั้งหมด 6 จุดในเส้นทางหลัก เพื่อสกัดการเข้าออกของกรุงเทพฯให้เหลือน้อยที่สุด, การตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิวทั้งหมด 88 จุดทั่วกรุงเทพฯ, การเฝ้าแคมป์คนงานทั้งหมด 309 แคมป์ และการตั้งจุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เบื้องต้นคงจะใช้ตำรวจที่เว้นว่างจากภารกิจ หรือมีใจเป็นสาธารณะมาเสริมการปฏิบัติในส่วนนี้ ยืนยันทุกภารกิจกำลังพลเพียงพอไม่กระทบกับการปฏิบัติงาน

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวถึงกรณีมีการเรียกเก็บค่าดำเนินการศพโควิด-19 ประมาณ 17,000 บาท พื้นที่ สน.ท่าข้าม ว่า ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยปกติการเก็บศพ หรือส่งศพโดยมูลนิธิจะไม่มีค่าใช้จ่าย หลังจากนี้ ต้องไปดูรายละเอียดว่า การกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เป็นการซ้ำเติมญาติผู้เสียชีวิตหรือไม่ หากใครสงสัยสามารถแจ้งตำรวจเข้าตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องการทำงานร่วมกับมูลนิธิในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เนื่องจากมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน จะมีการปรับแผนแบ่งสาย และบริหารจัดการกำลังพล ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ ผบช.ภ.และ ผบก.จว.ไปบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง ผบก.สอท.ในฐานะรองโฆษก ตร.กล่าวว่า กรณีนายกรัฐมนตรีกำชับห้ามมีคนเจ็บ หรือคนป่วยล้นออกนอกเคหสถานนั้น การบริหารจัดการศพที่พบบริเวณที่สาธารณะ โดยปกติจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ ร่วมกับแพทย์ในการชันสูตรพลิกศพ แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้เพิ่ม 1 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ หลังจากชันสูตรพลิกศพและพิสูจน์เบื้องต้นพบว่า เป็นศพซึ่งความตายเกิดจากการติดเชื้อ จะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่จัดการศพติดเชื้อเข้ามาดำเนินการ ฉะนั้น การเข้าสู่พื้นที่ หรือการดำเนินการจัดการศพแตกต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น