xs
xsm
sm
md
lg

อาการแพ้จากโรคประจำตัว ... เหตุไม่ได้ค่าเสียหายจากการสลายการชุมนุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย” นอกจากประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมือง
โดยผ่านการเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่แล้ว ประชาชนยังมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์
การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต ตลอดจนตรวจสอบการทำงานของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส รวมไปถึงการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

อย่างไรก็ตาม ... ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการชุมนุมหรือรวมตัวกันของคนจำนวนมากอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเป็นต้องดำเนินการตามหลักมาตรฐานสากล โดยมูลเหตุของคดีพิพาทที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องการขอรับเงินเยียวยาความเสียหายของผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓

คดีนี้ ... ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งดังกล่าว อ้างว่าได้ถูกแก๊สน้ำตาจากการสลายการชุมนุมจนมีผื่นแดงขึ้นทั้งตัว มีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังเป็นอย่างมาก และได้ยื่นขอรับเงินเยียวยาตามแบบลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓

ต่อมาคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น ได้พิจารณากรณีของผู้ฟ้องคดีและมีมติไม่ให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาการของผู้ฟ้องคดีที่เป็นอยู่เกิดจากแก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุมตามที่กล่าวอ้าง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โดยยื่นเอกสารเพิ่มเติมเป็นหลักฐานทางการแพทย์จากสถาบันโรคผิวหนังและจากโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาทบทวนถึง ๒ ครั้ง จึงมีมติว่ากรณีของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะให้การช่วยเหลือเยียวยาตามเดิม

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับมติดังกล่าว จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และขอให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บสาหัสและค่ารักษาพยาบาลพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาและกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) จะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี

ตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมสำหรับผู้เสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓) หรือไม่ เพียงใด ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะพิจารณาว่าผื่นแดงที่ขึ้นทั้งตัวของผู้ฟ้องคดีเกิดจากการถูกแก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุมหรือไม่ ย่อมต้องอาศัยความเห็นและการวินิจฉัยของแพทย์รวมทั้งข้อมูลทางการแพทย์เป็นสำคัญ เมื่อองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ผู้พิจารณา มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นแพทย์รวมอยู่ด้วย และที่ประชุมได้พิจารณากรณีของผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นว่า ตามประวัติการรักษาของผู้ฟ้องคดีที่โรงพยาบาล พ. ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๘ ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่มีโอกาสหาย และจะมีอาการกำเริบขึ้นเป็นช่วง ๆ ได้ โดยลักษณะของรอยโรคของผู้ฟ้องคดี คือ การรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งในปัจจุบันผู้ฟ้องคดีก็ได้รับยารักษาโรคสะเก็ดเงินอยู่

ส่วนการตรวจชิ้นเนื้อสองครั้งที่โรงพยาบาลตำรวจและสถาบันโรคผิวหนังที่ระบุว่า เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง นั้น โดยปกติแล้วโรคสะเก็ดเงิน ถ้าตามพยาธิวิทยา เวลาดูชิ้นเนื้อถ้ามีการรักษาไปบางส่วนแล้ว ลักษณะของรอยโรคจะมีอาการเหมือนผิวหนังอักเสบมาก จะแยกกันไม่ได้เลย จึงเห็นว่าโรคปัจจุบันของผู้ฟ้องคดี คือ โรคสะเก็ดเงิน มิได้เกิดจากแก๊สน้ำตา ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับทะเบียนประวัติผู้ป่วยของผู้ฟ้องคดีที่โรงพยาบาล พ. ซึ่งระบุว่าผู้ฟ้องคดีเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลครั้งแรก

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เป็นโรคผิวหนังและรับยาต่อเนื่องเป็นระยะ จนในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ผู้ฟ้องคดีมีผื่นเห่อขึ้นและรักษาต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๕

จากข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าอาการผื่นคันขึ้นตามตัวของ
ผู้ฟ้องคดีเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะถูกแก๊สน้ำตาเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ อีกทั้งในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทางการแพทย์ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการผื่นขึ้นตามตัว โดยผู้ฟ้องคดีไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด้วยอาการผื่นเห่อขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ซึ่งหลังจากการสลายการชุมนุมไปแล้วเป็นเวลาถึง ๓ เดือนเศษ โดยแพทย์ให้การรักษาต่อเนื่องกับอาการที่เคยรักษามาแต่เดิม ซึ่งหากอาการบาดเจ็บเป็นแผลผื่นคันเกิดจากการถูกแก๊สน้ำตา อาการดังกล่าวก็ควรจะเกิดขึ้นทันทีหรือในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับที่มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม กรณีจึงยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าอาการผื่นคันขึ้นตามตัวของผู้ฟ้องคดีเกิดจากการถูกแก๊สน้ำตา

ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ ๑ จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓ การที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติว่าผู้ฟ้องคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาช่วยเหลือเยียวยา จึงชอบด้วยเหตุผลและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่
อ. ๓๗๓/๒๕๖๓)

สรุปได้ว่า การจะพิจารณาว่าผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบอันเกิดจากการสลายการชุมนุมหรือไม่ จำต้องยึดถือและอาศัยความเห็นจากการวินิจฉัยของแพทย์รวมทั้งข้อมูลทางการแพทย์เป็นสำคัญ โดยองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ผู้มีหน้าที่พิจารณาจำเป็นต้องมีผู้แทนซึ่งเป็นแพทย์รวมอยู่ด้วย และเมื่อความเห็นแพทย์ประกอบกับข้อมูลการรักษาทางการแพทย์สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าอาการผื่นคันของผู้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าวเกิดจากโรคที่เป็นอยู่แล้ว มิใช่เกิดจากการถูกแก๊สน้ำตา จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ... นั่นเองครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕ และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

โดย ลุงถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น