MGR Online - โฆษก บช.น.เผย ดำเนินคดี 5 ข้อหา ม็อบ 9-11 ก.ค. พบเข้าข่ายผิด 70 ราย เช่นเดียวกับการชุมนุม 2-4 ก.ค. ที่โดนไปหลายคน ชี้ ผู้ชักชวน บิดเบือนข้อมูล บช.ไซเบอร์ ดำเนินคดีแล้ว
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 9-11 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. “กลุ่มอาชีวะปกป้องประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นำโดย นายธนเดช ศรีสงคราม นัดรวมตัวที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ก.ค. “กลุ่มประชาชนคนไทย” นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, “กลุ่มคนไทยไม่ทนฯ” นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ร่วมกับ “กลุ่มคาร์ม็อบ” นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เคลื่อนขบวนในรูปแบบคาร์ม็อบไปยัง 4 พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. “กลุ่มคนไทยไม่ทนฯ” นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ นัดรวมตัวที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 9-11 ก.ค. ส่วนใหญ่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรการควบคุมโรค), พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง สำหรับการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ บช.น.ได้เรียกพนักงานสอบสวนทุก สน.มาประชุมกำชับแนวทางการปฏิบัติ ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ขณะนี้มีผู้อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี ประมาณ 70 ราย เช่นเดียวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 2-4 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีลักษณะการชุมนุมร่วมกัน ส่วนการชักชวน หรือนัดหมายทางโซเชียลมีเดีย สื่อต่างๆ รวมทั้งการบิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) มีการดำเนินคดีในส่วนหนึ่งแล้ว
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง ผบก.สอท.ในฐานะรองโฆษก ตร.กล่าวว่า การชุมนุมนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ตำรวจมีการรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม หรือแกนนำ ผู้ที่ชักชวน ปลุกปั่นทางโซเชียลหลายคดีในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ บช.น.เป็นผู้รับผิดชอบ สิ่งที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มีความเป็นห่วง เนื่องจากเป็นช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 คือ การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ อย่างไรก็ตาม ในการบังคับใช้กฎหมายนั้น ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ดำเนินการควบคู่กันไป โดยไม่เป็นการซ้ำเติมประชาชน แต่ถ้ายังมีเจตนาฝ่าฝืนกระทำความผิด เช่น การชุมนุมขณะนี้ไม่สามารถกระทำได้ ตำรวจไม่มีทางเลือกนอกจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
“กรณีผู้ชักชวน ยุยง หรือปลุกปั่นที่อาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และยังไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีแล้วอาจจะหลบหนี อยากให้ตั้งสติพิจารณาดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะกรณีรัฐบาล และ ศบค.ได้ออกมาตรการเข้มข้นขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพฯและอีก 9 จังหวัด ท่านทราบอยู่แล้วว่ากิจกรรมใดที่สามารถดำเนินการได้ และไม่สามารถดำเนินการได้ อยากให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับอย่างเข้มข้น” รองโฆษก ตร.กล่าว