คพ.ตรวจคุณภาพน้ำ-อากาศ เหตุระเบิดไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ ในรัศมี 2 กิโลเมตร พบสารสไตรีน และฟอร์มาดิไฮด์ตกค้างเกินมาตรฐาน หวั่นฝนตกจนเกิดสะสมในพื้นดิน กระทบมลภาวะเป็นพิษ
วันนี้ (6 ก.ค.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารอันตรายในพื้นที่ที่เกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียงจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอย 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
นายอรรถพล กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คพ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารอันตรายในพื้นที่ที่เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัดและพื้นที่รอบนอก โดยในรัศมี 1 กิโลเมตรแรกจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งสารเคมีที่ต้องระวัง คือ โซเว้นท์ ที่ติดไฟได้ง่าย และสารสไตรีนโมโนเมอร์ ใช้เป็นองค์ประกอบทำเม็ดพลาสติก เมื่อเกิดลุกไหม้ไฟจะปลดปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถติดตามและตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ได้ ซึ่งจากการตรวจคุณภาพอากาศในพื้นที่พบว่ากลับสู่สภาวะปกติ กำลังพิจารณาเรื่องลดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนกลับมายังที่อยู่อาศัยได้ และ คพ. จะต้องเฝ้าติดตามด้านมลพิษอย่างต่อเนื่อง 3 วัน ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากมีกรณีฝนตกลงมา อาจจะชะสารเคมีลงใต้ดิน แหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำ ซึ่งจะยากต่อการควบคุม ซึ่งอาจต้องเข้าไปบำบัดเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า เวลานี้หากมองด้วยตาเปล่า พื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ ถือว่า มีอากาศใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดเหตุมากแล้ว ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ ยังพบว่า สารสไตรีน และฟอร์มาดิไฮด์ ในรัศมี 2 กิโลเมตร ยังสูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือว่าอากาศเป็นใจท้องฟ้าโปร่ง อากาศน่าจะกลับสู่สภาพปกติในเร็วๆ นี้ แต่ขออย่าให้ฝนตก เพราะหากฝนตกการจัดการต่างๆ จะยากมากขึ้น เพราะฝนจะชะสารพิษที่ตกค้างลงสู่แหล่งน้ำและพื้นดินได้ แต่วางใจอย่างคือ ชาวบ้านในบริเวณนี้ไม่ได้บริโภคน้ำฝน ส่วนใหญ่จะใช้น้ำประปามากกว่า
นายอรรถพล ยังกล่าวถึงกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น คพ.ต้องเข้าไปประเมินค่าเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับเจ้าของโรงงานด้วยหรือไม่ ว่า คพ.ต้องเข้าไปประเมินผลความเสียหายที่เกิดขึ้นทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้ ดิน น้ำ อากาศ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสียหายไปเท่าใด คิดเป็นมูลค่าเท่าใด ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้อยู่แล้ว ตอนนี้ยังบอกตัวเลขไม่ได้ว่าเท่าใด แต่ประเมินแล้วน่าจะสูงพอสมควร
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้หน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ติดตั้ง ณ บริเวณเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งตรวจวัดมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด คือ 1) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครอน (PM10) 2) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครอน (PM2.5) 3) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 4) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) 5) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ 6) โอโซน (O3) โดยจุดติดตั้ง Mobile ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมาพบค่าสารมลพิษที่ตรวจวัดได้ ดังนี้ 1) PM10 ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงตรวจวัดได้ระหว่าง 10-24 ?g/m3 2) PM 2.5 ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงตรวจวัดได้ระหว่าง 5-16 ?g/m3 3) CO ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงตรวจวัดได้ระหว่าง 0.01-0.09 ppm 4) NO2 ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงตรวจวัดได้ระหว่าง 2-14 ppb 5) SO2 ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงตรวจวัดได้ระหว่าง 0-2 ppb และ 6) O3 ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงตรวจวัดได้ระหว่าง 3-11 ppb
ส่วนผลค่าตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (Total VOCS) ด้วยเครื่องมือแบบเคลื่อนที่ (Portable) พบว่า 1. บริเวณในรั้วโรงงาน 0 เมตร มีค่า 7 ppm 2. บริเวณด้านหน้าโรงงานห่างออกมา 5 เมตร มีค่า 0.5 ppm และ 3. บริเวณห่างรั้วโรงงานออกไป 50 เมตร มีค่า 0.1 ppm
อีกทั้ง สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ 5 สถานี ได้แก่ 1. ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง 2. ต.บางโปรง อ.เมือง 3. ต.ตลาด อ.พระประแดง 4. ต.ปากน้ำ อ.เมือง และ 5. ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง ผลการตรวจวัด พบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครพื้นที่ใกล้เคียง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมีที่เกิดขึ้น ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ สรุปได้ดังนี้ 1. PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. ตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 6-22 ug/m3 2) PM10 เฉลี่ย 24 ชม. ตรวจวัดได้ในช่วง 12-35 ug/m3 3) O3 เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 7-18 ppb 4) CO เฉลี่ย 8 ชม. ตรวจวัดได้ในช่วง 0-0.54 ppm 5) NO2 เฉลี่ย 1 ชม. ตรวจวัดได้ในช่วง 8-11 ppb และ 6) SO2 เฉลี่ย 1 ชม. ตรวจวัดได้ในช่วง 1-4 ppb
ซึ่งในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 จะดำเนินการติดตั้งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่เพิ่มเติมที่โรงเรียนกิ่งแก้ว พร้อมทั้งนำเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 แบบอัตโนมัติสำหรับตรวจวัดภายนอกอาคาร (Outdoor) ไปติดตั้งเพิ่มเติมตามชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีความเสี่ยง 2 ถึง 3 จุด เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและผลกระทบที่ชุมชนจะได้รับจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวต่อไป