ศาลเลื่อนไต่สวนมูลฟ้อง “จุรินทร์” ฟ้อง “อัจฉริยะ” ไลฟ์สดหมิ่นประมาทปมหน้ากากอนามัย เป็น 18 ต.ค.นี้ เหตุทนายโจทก์ขอยังมีประเด็นถามพยานจำนวนมาก
วันนี้ (21 มิ.ย.) ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้ยื่นฟ้อง นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ฐานหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีนายอัจฉริยะ ไลพ์สดกล่าวหานายจุรินทร์เรื่องหน้ากากอนามัย ผ่านเฟซบุ๊กชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม 5 ครั้ง ในวันที่ 11 -15-20-29 มี.ค. 2563 และวันที่ 1 เม.ย. 2563 ต่อเนื่องกัน สิ่งที่นายอัจฉริยะได้เผยแพร่ข้อความต่อประชาชนผู้รับฟังการไลฟ์สดของนายอัจฉริยะนั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น และกระทำเพื่อผลประโยชน์ของนายอัจฉริยะเอง ถือเป็นการกระทำความผิดต่างกรรม ต่างวาระ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
โดยนัดไต่สวนมูลฟ้องวันนี้โจทก์ ทนายโจทก์ จำเลยและทนายจำเลยมาศาล
ซึ่ง นายจุรินทร์ โจทก์ได้เบิกความด้วยตนเอง แต่เบิกความยังไม่จบคำซักถามของทนายโจทก์ ก็ได้อ้างส่งเอกสารเเละพยานวัตถุเพิ่มเติ่ม จากนั้นทนายโจทก์แถลงว่าขณะนี้หมดเวลาราชการในช่วงเช้าแล้ว และยังมีคำถามที่จะถามพยานอีกเป็นจำนวนมากไม่สามารถถามให้จบในวันนี้ได้ขอเลื่อนคดีจำเลยและทนายจำเลยไม่ค้าน
พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรให้เลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 ต.ค. เวลา 09.00 น. เหตุที่นัดนานก่อนหน้านี้คู่ความไม่มีวันว่างตรงกัน
ทั้งนี้ ก่อนการไต่สวน นายอัจฉริยะ จำเลยแถลงคัดค้านว่าโจทก์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเตรียมพร้อมในการเบิกความและดูเอกสารมาล่วงหน้าแล้ว แต่จำเลยเห็นโจทก์อ่านบันทึกข้อความเป็นเอกสารขณะเบิกความด้วย จึงขอคัดค้านการเบิกความของโจทก์
โจทก์แถลงว่า ประเด็นที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ เป็นเรื่องเล็กน้อยเอกสารไม่ได้มีเป็นจำนวนมากและรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ย่อเอาไว้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่โจทก์เตรียมมานั้นเป็นเอกสารแผ่นเล็กย่อข้อความไว้เป็นจำนวนไม่มาก และคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น มีข้อความเป็นจำนวนมาก หากให้โจทก์ซึ่งมาเบิกความเป็นพยานต้องนึกหรือจดจำทุกตัวอักษรตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องมาแล้วจะทำให้เสียเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปมาก เมื่อคำฟ้องโจทก์มีจำนวนหลายหน้ามีรายละเอียดข้อเท็จจริงค่อนข้างซับซ้อน อาศัยอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 จึงอนุญาตให้โจทก์อ่านข้อความที่เขียนมาได้ ทั้งนี้ไม่ทำให้ความยุติธรรมของจำเลยเสียไป แต่อย่างไร เนื่องจากข้อความที่เขียนมานั้นเป็นไปตามคำฟ้องและฝ่ายจำเลยก็สามารถคัดคำเบิกความของโจทก์ไปต่อสู้คดีได้อยู่แล้ว