xs
xsm
sm
md
lg

รู้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรม ยังนำมาใช้... โทษถึงขั้นไล่ออก !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สิ่งของมีค่าของใคร ใครก็หวง... หากหยิบฉวยหรือเอาไปโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม มีความผิดอาญาข้อหาลักทรัพย์ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นของที่ถูกขโมยมา แต่ยังรับมาครอบครองก็จะผิดข้อหารับของโจร !

ครบเครื่องคดีปกครองในวันนี้ เป็นเรื่องราวของข้าราชการตำรวจที่ครอบครองรถซึ่งถูกโจรกรรมมา จึงถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยผลคดีอาญาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีทั้งสองข้อหา แต่ในการดำเนินการทางวินัย... ตำรวจนายดังกล่าวได้รับคำสั่งลงโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการ

ก่อนจะทราบผลของคดีว่าสุดท้ายแล้ว... คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? มาดูที่มาที่ไปของคดีกันก่อนครับ

ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กองกำกับการสืบสวน ถูกร้องเรียนว่านำรถจักรยานยนต์ที่ถูกขโมยมาใช้ขับขี่โดยผิดกฎหมาย

ผู้บังคับการตำรวจภูธรได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูลตามที่ร้องเรียน จึงตรวจยึดรถมาตรวจสอบพบว่า รถจักรยานยนต์คันพิพาทใช้หมายเลขทะเบียนปลอม โดยหมายเลขทะเบียนที่แท้จริงมีนาง ปอ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และอยู่ในสภาพถูกอายัดเพราะถูกคนร้ายโจรกรรมไป ซึ่งนางปอได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว

ผู้ฟ้องคดีได้เข้ามอบตัว พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร และถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดแจ้ง

ต่อมา ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคำสั่งตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาสั่งลงโทษฯ ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ กระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติยกอุทธรณ์ และให้แก้ไขคำสั่งเพื่อปรับฐานความผิดให้ถูกต้อง เพราะการกระทำความผิดดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยให้ลงโทษผู้ฟ้องคดีเป็นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๗๙ (๕) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนได้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นการส่วนตัว จึงยื่นฟ้องคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

พฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดี ถือเป็นการกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
อย่างร้ายแรงหรือไม่ ? และคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจภูธร จ. ผู้ฟ้องคดีได้ใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยอ้างว่า ยืมมาใช้เป็นครั้งคราวจากเพื่อนตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจเดียวกัน และได้ใช้อยู่ตลอดมาแม้ผู้ฟ้องคดีย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองแล้ว โดยขณะที่ผู้ฟ้องคดีใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวอยู่ที่อำเภอ จ. ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนเอาไว้ เมื่อนำมาใช้งานในพื้นที่จังหวัดจึงได้นำแผ่นป้ายทะเบียนปลอมมาติดไว้ โดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการใช้งานในจังหวัดและไม่เป็นที่สงสัยของบุคคลอื่นซึ่งจากการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อนข้าราชการตำรวจนายดังกล่าวให้ถ้อยคำว่า ไม่เคยให้ผู้ฟ้องคดียืมใช้รถคันพิพาทและไม่มีข้อมูลว่ารถคันพิพาทถูกตรวจยึดอยู่ในสมุดบันทึกคุมรถตรวจยึด อีกทั้งผู้บังคับบัญชาไม่มีนโยบายในการอนุญาตให้ใช้รถที่มีการตรวจยึดไว้เพื่อไปใช้ส่วนตัวหรือใช้ในงานปฏิบัติราชการแต่อย่างใด

พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ครอบครองและใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งมิใช่ของตนเอง ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของกลางที่ถูกโจรกรรมมา ซึ่งโดยสถานะของผู้ฟ้องคดีที่เป็นข้าราชการตำรวจย่อมอยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถและชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่ผู้ฟ้องคดีกลับจงใจที่จะละเลยไม่ทำการตรวจสอบ อันเป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นถึงเจตนาที่จะครอบครองรถคันดังกล่าวไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย ทั้งที่ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ต้องเป็นผู้เคารพและรักษากฎหมายยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งหากไม่มีการร้องเรียนจนนำไปสู่การตรวจสอบ ผู้ฟ้องคดีก็ยังจะครอบครองรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นประโยชน์ส่วนตนอยู่ต่อไป

การกระทำของผู้ฟ้องคดีในฐานะที่เป็นข้าราชการตำรวจจึงทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพพจน์และชื่อเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดี ทั้งยังทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๗๙ (๕) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗

ส่วนคดีอาญาถึงที่สุด โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีนั้น การดำเนินการทางวินัยมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการสอบสวนแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ไม่จำเป็นต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญาจึงจะลงโทษได้ ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ. ๖๗๐/๒๕๖๓)

คดีนี้ ... ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยืนยันความผิดของผู้ฟ้องคดีในฐานเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จากกรณีครอบครองและใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งมิใช่ของตนเอง ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา อันเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพพจน์และชื่อเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งแม้คดีอาญาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง แต่การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัย ไม่จำเป็นต้องปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งเช่นคดีอาญา ผู้บังคับบัญชาจึงสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนทางวินัย... นั่นเองครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕)
กำลังโหลดความคิดเห็น