xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกนครบาลออกโรงเตือนคนโพสต์-แชร์ หลังดำเนินคดีมือปั่นข่าวแพ้วัคซีนซิโนแวค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “รองฯ ต๊ะ” เผย หลังกระทรวงดีอีเอสแจ้งความเอาผิดคนปล่อยข่าวว่ามีผู้แพ้วัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี พบเป็นภาพผู้ป่วยของ รพ.ใน จ.ลพบุรี หมอยังไม่วินิจฉัยว่าเกิดจากแพ้วัคซีน ตอนนี้กินยาอาการหายดีแล้ว เตือนคน “โพสต์-แชร์-ส่งต่อ” เจอผิดหลายข้อหา โทษสูง เปิดช่องทางแจ้งเบาะแส 24 ชม.

วันนี้ (12 พ.ค.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะ โฆษก บช.น.ประชาสัมพันธ์กรณีมีการโพสต์ หรือส่งต่อข้อมูลและรูปภาพอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่มีอาการรุนแรงจากการฉีดวัคซีน Sinovac (ซิโนแวค) ตามที่ปรากฏในสื่อโซเชียล เนื่องจากทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและตื่นตระหนกตกใจ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุด ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.จึงสั่งกำชับให้ดำเนินคดีกับผู้โพสต์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบอำนาจให้ นายสัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง หลังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ได้ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “กะทิ จ้า”มีการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จว่า “พบผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac มีผลข้างเคียงรุนแรง โดยมีโลหิตออกในสมอง”

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ภาพดังกล่าวได้แอบอ้างใช้ภาพผู้ป่วยของ รพ.หนองม่วง จ.ลพบุรี แต่เขียนเรื่องราวเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ จ.อุดรธานี โดยแพทย์ของ รพ.หนองม่วง ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนี้แพ้วัคซีนแต่อย่างใด ก็ได้ให้ยาแก้แพ้ไปทานขณะนี้อาการหายดีเป็นปกติแล้ว พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ตามคดีอาญาที่ 273/2564 ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ ยังพบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Wadfhan Niphawan” และบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ “@tuykallaya”โพสต์ข้อความ หรือรูปภาพลักษณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลฯจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ทั้งสองราย ตามคดีอาญาที่ 274/2564 และ 275/2564 ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ข้อความ หรือรูปภาพอันเป็นเท็จทั้งสามรายดังกล่าว

จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า การโพสต์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยผู้โพสต์จะมีความผิดข้อหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(2)

ส่วนผู้แชร์ซึ่งเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อความในลักษณะดังกล่าวจะมีความผิดข้อหา “เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่น่าจะเกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนฯ”ตามมาตรา 14(5) ทั้งสองอนุมาตรา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และยังมีความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ข้อ 6 ในข้อหา “เสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความ หรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ถ้าประชาชนท่านใดมีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม www.Antifakenewscenter.com, Facebook เพจศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม, กลุ่ม Line Antifakenewscenter หรือโทร.สอบถามที่หมายเลข 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง




กำลังโหลดความคิดเห็น