MGR Online - รอง ผบ.ตร. มีหนังสือคำสั่งกำชับการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 สั่งวิเคราะห์สาเหตุหลังยอดตำรวจติดเชื้อพุ่ง
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ศปม.5.31 ถึง ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. ในสังกัด สง.ผบ.ตร. ใจความว่า เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่เดือน เม.ย. 2564 มีการขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น สามารถแพร่เชื้อติดต่อกันได้โดยผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ และขณะนี้มีข้าราชการตำรวจติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในส่วนของข้าราชการตำรวจจึงให้วิเคราะห์สาเหตุการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของข้าราชการตำรวจในสังกัดในห้วงระหว่าง 1 ม.ค. - 15 เม.ย. 2564 และหามาตรการรองรับ แล้วรายงานข้อมูลตามแบบฟอร์มที่แนบให้ ศปม.ตร. ทราบ ทางกลุ่มไลน์ งานมั่นคง (มค.ผค.) สยศ.ตร. ภายใน 21 เม.ย. 64 และ ให้ รพ.ตร. วางมาตรการรองรับการป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วยกร่างเสนอ ตร. เพื่อกำหนดเป็นมาตรการป้องกัน
“สำหรับกำลังพลที่รักษาหายดี หรือพ้นกำหนดการกักตัวแล้ว ให้เรียกตัวกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจทุกนายให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. ได้สั่งการไว้ และให้ ผบก. รอง ผบก. ผกก./หน.สถานี ตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ หากพบว่ามีกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เพียงพอ (เนื่องจากมีสาเหตุต้องกักตัว) ให้ บช./ภ. บก/ภ.จว.พิจารณาปรับกำลังพลภายในหน่วย โดยใช้ สน./สภ. ข้างเคียง หรือส่วนกลาง เช่น บก.สส. กก.สส.สนับสนุนการปฏิบัติงานตามความเหมาะสม” วิทยุ สั่งการระบุ
นอกจากนี้ กำชับการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ดังนี้
(1) ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายให้ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรค (D-M-H-T-T-A) อย่างเคร่งครัด โดยสวม Face Shield หรือหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ มีเจลแอลกอฮอล์ติดตัวทุกนาย มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนการปฏิบัติหน้าที่ หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เจลล้างมือ หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและระหว่างประชาชน
(2) การคัดกรองประชาชนผู้มาติดต่อสถานีตำรวจหรือหน่วยบริการต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด วางระบบการใช้แอปพลิเคชัน ไทยชนะ หมอชนะ มีการแบ่งการควบคุมกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค
(3) การประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี หลีกเสี่ยงการประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น มั่วสุมดื่มสุรา เข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค