xs
xsm
sm
md
lg

ร้องทุกข์ว่าลิฟต์และเครื่องทำน้ำร้อนไม่ปลอดภัย : ต้องเร่งดำเนินการในเวลาที่สมควร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

บ้านคือวิมานของเรา... เชื่อว่าแทบทุกคนย่อมอยากจะมีบ้านหรือที่พักอาศัยเป็นของตนเองสักหลัง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียม แต่การซื้อบ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนเก็บเงินกว่าครึ่งชีวิต
ถึงจะซื้อได้ หรือบางคนเลือกที่จะกู้และผ่อนชำระระยะยาวซึ่งก็ต้องแลกกับการเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก ฉะนั้น กว่าจะตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมสักแห่ง ก็คงต้องดูแล้วดูอีกว่าราคากับคุณภาพมีความเหมาะสมหรือคุ้มค่าหรือไม่ แถมหากโชคไม่ดี... ตัดสินใจซื้อแล้วก็อาจมีปัญหาตามมาให้แก้อีกได้

ครบเครื่องคดีปกครองวันนี้... มีข้อพิพาทหลังการซื้อคอนโดมิเนียมหรือห้องชุดมาเล่าสู่กันฟัง
โดยเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ที่พึ่งแรกที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคนึกถึงก็คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ซึ่งมีหน้าที่ในการรับและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ของผู้บริโภค ตรวจตราและสอดส่องการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นต้น

โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ซึ่งตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจการค้าและบริการ และแม้จะมีกฎหมายบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค แต่การที่ผู้บริโภคแต่ละรายจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจเมื่อมีการละเมิดสิทธินั้น ย่อมเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางกรณีผู้บริโภคหลายรายไม่อยู่ในฐานะที่จะสละเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ กฎหมายจึงให้อำนาจคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ

สำหรับคดีที่จะคุยกันในวันนี้... เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อห้องชุดได้ร้องเรียนปัญหาหลังจากที่ได้เข้าอยู่อาศัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามข้อร้องเรียน

โดยเรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า นายมารวยได้ตัดสินใจซื้อห้องชุด ขนาด ๔๒.๕๔ ตารางวา ราคากว่า
๓ ล้านบาท จากบริษัทน้ำนิ่ง จำกัด แต่เมื่อเข้าพักอาศัยกลับพบปัญหาหลายอย่าง เป็นต้นว่าลิฟต์โดยสารบางตัวมีเสียงดัง ค้าง หยุดไม่ตรงชั้น และบางครั้งหยุดระบบตัวเองแล้วลงไปที่ชั้น ๑

ปัญหาของนายมารวยยังไม่หมดเท่านี้ เพราะก่อนนายมารวยจะซื้อห้องชุดดังกล่าว ได้มีการโฆษณาว่าผู้ซื้อจะได้รับเครื่องใช้ไฟฟ้าฟรี โดยไม่ได้ระบุประเภทและลักษณะอย่างชัดเจน ปรากฏว่าได้มีการติดตั้ง
เครื่องทำน้ำร้อนที่เหมาะสำหรับการใช้งานกับอ่างล้างมือมาติดตั้งใช้งานกับฝักบัวอาบน้ำซึ่งไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ ทำให้อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังอันเป็นการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผิดประเภทอีกด้วย

นายมารวยร้อนทั้งกายและใจจึงรีบแจ้งให้บริษัทน้ำนิ่ง จำกัด แก้ไขปัญหากรณีลิฟต์โดยสารและขอให้เปลี่ยนเครื่องทำน้ำร้อนให้เหมาะสมกับการใช้งานด้วย ซึ่งบริษัทน้ำนิ่ง จำกัด ได้แก้ไขปัญหาเรื่องลิฟต์หลายครั้ง แต่ลิฟต์ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ส่วนปัญหาเครื่องทำน้ำร้อนนั้นไม่มีการดำเนินการตามที่
นายมารวยร้องขอ

เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขและความเดือดร้อนยังไม่หมดสิ้นไป นายมารวยจึงมีหนังสือร้องทุกข์ไปถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จำนวน ๒ ฉบับ โดยนับตั้งแต่ สคบ. รับหนังสือร้องทุกข์
ของนายมารวยเป็นระยะเวลากว่า ๕ เดือนเศษ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นายมารวยจึงยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ตามอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคโดยไม่ชักช้า

ประเด็นพิจารณาคือ... การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์ของ สคบ.(ผู้ถูกฟ้องคดี) เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ ?

คดีนี้ สคบ. อ้างว่า เรื่องร้องทุกข์ของนายมารวยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาและคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นการพิจารณาดำเนินการตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อ สคบ. เจ้าหน้าที่ได้ประสานสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ฟ้องคดีทางโทรศัพท์และได้รับแจ้งว่าได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทน้ำนิ่ง จำกัด เรื่องการส่งมอบห้องชุดล่าช้า ห้องชุดมีความชำรุดบกพร่อง และทรัพย์สินส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ไม่ครบถ้วน จึงขอยุติเรื่องและขอถอนคำร้องทุกข์แล้ว ซึ่งกรณีการประสานสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ฟ้องคดี แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถกระทำได้ด้วยวาจาตามข้อ ๑๒ ของระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้ยุติเรื่องไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม

แต่เมื่อเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีกรณีที่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องทำน้ำร้อนและลิฟต์ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยยังไม่มีข้อยุติ สคบ. จึงมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการมีหนังสือเรียกให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารและหลักฐานที่จำเป็นประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจการค้าและบริการ หรือดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค หรือดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทก่อนมีการฟ้องคดีต่อศาล หรือดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) (๑/๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

กรณีปัญหาลิฟต์โดยสารมีความชำรุดบกพร่องในการใช้งานและการติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนผิดประเภทอันเข้าข่ายสินค้าไม่ปลอดภัยนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ประสานด้วยวาจาทางโทรศัพท์ แต่ไม่ได้มีการเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่ จนกระทั้งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น สคบ. จึงแจ้งให้บริษัทน้ำนิ่ง จำกัด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ทั้งที่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องคดีนี้ และโดยที่ปัญหาลิฟต์โดยสารมีความชำรุดบกพร่องและปัญหาเครื่องทำน้ำร้อนที่ไม่เหมาะสมกับประเภทการใช้งานนั้น ถือเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้ล่าช้าออกไปอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและผู้บริโภคคนอื่นที่พักอาศัยอยู่ในโครงการดังกล่าวได้

เมื่อนับตั้งแต่วันที่ สคบ. ได้รับหนังสือร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี จนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น รวมระยะเวลากว่า ๕ เดือนเศษ สคบ. จึงได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคซึ่งตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจการค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาชดเชยความเสียหาย จึงถือว่าสคบ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๒๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ประกอบกับข้อ ๑๒ และข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง ของระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ สคบ. ดำเนินการสืบสวนสอบสวน
เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๓๘/๒๕๖๓)

คดีนี้... ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์ของผู้บริโภค ซึ่งจะต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้บริโภคร้องทุกข์และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้าหรือภายในระยะเวลา
อันสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค
ซึ่งต้องดำเนินการตามหน้าที่โดยเร่งด่วน อันสอดคล้องกับสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือ
ความไม่ยุติธรรม !!” นั่นเองครับ
....

“๒๐ ปี ศาลปกครอง ยืนหยัดความเป็นธรรม ก้าวล้ำเทคโนโลยี”
กำลังโหลดความคิดเห็น