สตม.ร่อนหนังสือชี้แจงสื่อปมร้อนโอนย้ายทหารเรือเข้าตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ระบุเพื่อประหยัดงบประมาณการฝึกกำลังพลประจำเรือยนต์ตรวจการณ์ ระดับ ผบ.หมู่-รอง สว. ชี้มีความพร้อมด้านประสบการณ์ด้านทะเลและภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำ
จากกรณีที่ปรากฏข้อมูลข่าวสารทางสื่อมวลชน เรื่องการรับโอนข้าราชการทหารเรือมาเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัด สตม.จำนวน 41 ราย จนเป็นประเด็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มี.ค. ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม.ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 สตม.ได้รับการสนับสนุนเรือยนต์ตรวจการณ์ จำนวน 27 ลำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานตรวจคนเข้าเมืองให้กับหน่วยงานในสังกัด บก.ตม.ที่มีด่าน ตม.ทางน้ำ สำหรับใช้ในภารกิจด้านการสกัดกั้น ป้องกัน ปราบปราม และสืบสวนขยายผลการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในการประมง การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเพิ่มความเข้มในการตรวจบุคคลและพาหนะการอำนวยความสะดวกในการบริการคนเข้าเมือง ตลอดจนช่วยสนับสนุนภารกิจการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยทางน้ำ
ต่อมาได้มีมติอนุมัติการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำเรือยนต์ตรวจการณ์ ระดับตำแหน่ง ผบ.หมู่-รอง สว. ทำหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามทางน้ำ กลุ่มสายงานป้องกันปราบปรามให้กับ ตม.จว./ด่าน ตม.ในสังกัดที่มีด่านทางน้ำ ทาง สตม.จึงมีบันทึกเสนอ ตร.ขออนุมัติรับโอนข้าราชการทหารในสังกัด ทร.มารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัด เพื่อทำหน้าที่ประจำเรือยนต์ตรวจการณ์ เนื่องจาก สตม.ประสบปัญหาขาดแคลนกำลังพลที่มีความรู้ความชำนาญในการขับเรือและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งกำลังพลที่มีประสบการณ์ในด้านการปฏิบัติการทางลำน้ำและทางทะเลในพื้นที่ต่างๆ หากได้รับการสนับสนุนกำลังพลในส่วนนี้ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่า 40 ปีขึ้นไป มีความพร้อมในการปฏิบัติงานและมีใบอนุญาตนายท้ายเรือตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณในการจัดการฝึกอบรมและจัดทำใบอนุญาตนายท้ายเรือเพิ่มเติมให้แก่ข้าราชการตำรวจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายผ่านเส้นทางลำน้ำและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการสนองตอบต่อนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลและ ตร.ได้เป็นอย่างดี
ต่อมาได้มีบันทึกลงวันที่ 4 พ.ค. 61 อนุมัติให้ สตม.ดำเนินการทาบทามการรับโอนข้าราชการทหารไปยัง ทร. เนื่องจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านการปฏิบัติการทางน้ำ ตร.ยังไม่สามารถผลิตเองได้ สตม.จึงได้ประสานทางกองทัพเรือเพื่อขอรับโอนข้าราชการทหารเรือซึ่งต่อมา ได้รับอนุมัติจาก ผบ.ทร.ให้โอนได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่หน่วยรับโอนลงคำสั่งรับโอน แต่ไม่ก่อนวันที่กองทัพเรืออนุมัติ (ก.ค. 63) และ ตร.ได้พิจารณาเรื่องที่ สตม.เสนอขอรับโอน และมีบันทึกลงวันที่ 15 มี.ค. 64 อนุมัติให้ สตม.รับโอนข้าราชการทหารเรือที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้าราชการตำรวจในสังกัด สตม.จำนวนทั้งสิ้น 41 ราย จนกระทั่งมีคำสั่งโอนย้ายและเป็นเรื่องดรามาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล
พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม.กล่าวว่า มีกระแสข่าวว่า การเผยแพร่เอกสารการรับโอนนายทหารชั้นประทวนมาเป็น สตม.รวม 41 นายนั้น แม้ ตร.จะมีสังกัดตำรวจน้ำ แต่ก็ยังต้องฝากเรียนที่โรงเรียนนายเรือ จึงสอบถามความสมัครใจทหารเรือผู้มีประสบการณ์ ที่มีหน้าที่เฉพาะในการขับเรือ ยืนยันไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของราชการและประเทศชาติ จึงต้องเลือกคนมีความรู้ความสามารถที่รับเข้ามาทำงานได้เลย ไม่ต้องเสียงบเสียเวลา อีกทั้งเรือมีราคาแพง ไม่มีประกัน และมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ย้ำว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะเป็นการรับเฉพาะทาง ไม่ได้แอบรับโอน รวมถึงมีการสอบถามและคัดเลือกมาประจำเรือ ไม่ใช่ประจำด่าน แต่เรือก็ต้องอยู่ที่ด่าน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่รับโอนมาจะไม่ได้ทำหน้าที่ ตม.ด่านเหมือน ตม.ทั่วไป หากผู้ใต้บังคับบัญชามีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามได้ ทหารเรือชุดที่รับเข้ามานั้นมีเพียงชุดเดียว ยืนยันว่าตำแหน่งอื่นจะรับโอนมาไม่ได้ และเป็นการโอนย้ายตามขั้นตอนที่กำหนดลำดับชั้นยศ จะข้ามขั้นไม่ได้ เหตุนี้ สตม.จึงได้รับอนุมัติให้ทาบทามการรับโอนข้าราชการทหาร โดยประสานกองทัพเรือ และ ผบ.ทร.ได้อนุมัติให้โอน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงอนุมัติให้รับโอนข้าราชการทหารเรือที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารต่างๆ เป็นข้าราชการตำรวจ สตม.ทั้งสิ้น 41 นาย