ศาลแพ่งยกฟ้องไม่คุ้มครอง นักข่าวประชาไท-ม็อบ REDEM ชี้ เป็นการขอล่วงหน้ากรณีเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งสิ้น ศาลจึงไม่อาจบังคับได้
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (24 มี.ค.) ความคืบหน้ากรณี น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจาก นายศรายุทธ ตั้งประเสริฐ หรือ กุ้ย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีนายศรายุทธได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนยางจากเหตุการณ์สลายชุมนุมของกลุ่มนักข่าวประชาไท ส่งทนายยื่นฟ้อง ตร. ขอศาลคุ้มครองชั่วคราว นักข่าว-ผู้ชุมนุม ไม่ให้ตำรวจปิดกั้นเส้นทาง-สลายการชุมนุม
โดยโจทก์ขอท้ายฟ้องดังนี้ 1. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสอง และเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปิดกั้นทางสัญจรหรือสถานที่ต่างๆ ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามหีบเพลง รถยนต์ รั่วเหล็ก หรือวัสดุเครื่องมืออื่นใดในทำนองเดียวกัน ในสถานที่ที่จะมีการชุมนุมสาธารณะและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม 2. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุม ห้ามใช้แก๊สน้ำตาหรือสารเคมี ห้ามฉีดน้ำ และใช้กระสุนยางในการควบคุมผู้ชุมนุม ห้ามข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงกับโจทก์และสื่อมวลชนอื่น ห้ามจำกัดพื้นที่ หรือกีดกันโจทก์และสื่อมวลชนอื่นออกจากพื้นที่ที่สื่อมวลชนกำลังปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนห้ามจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน หรือเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ทุกครั้งที่มีการชุมนุม และ 3. ให้จำเลยทั้งสองตั้งกรรมการสอบสวน เจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งระดับผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่สั่งการและในระดับปฏิบัติ เพื่อลงโทษทางวินัยและห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้ความรุนแรงปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนอีกจนกว่าจะได้รับการปรับปรุงพฤติกรรม เพื่อป้องกันมิให้มีการคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลขน รวมทั้งก่ออันตรายแก่เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
ล่าสุด ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สำหรับคำขอท้ายฟ้องข้อ (1) และ (2) เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องคดีโดยบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์การชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ก็ตาม แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งข้อ (1) และ (2) กลับเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของจำเลยที่ 2 กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ในเหตุการณ์การชุมนุมสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกครั้งที่จะมีการชุมนุม ซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์กับที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 กรณีจึงเป็นการขอให้บังคับเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตทั้งสิ้น ศาลจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องทั้ง 2 ข้อนี้ได้ ส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อ (3) เห็นว่า การตั้งกรรมสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อลงโทษทางวินัยและห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะปรับปรุงพฤติกรรม เป็นกระบวนการทางวินัยซึ่งเป็นอำนาจบริหารงานบุคคลภายในหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงยังไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งบังคับให้จำเลยทั้งสองตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ข้อ (3) พิพากษายกฟ้อง