MGR Online - “วัลลภ” แจงเจ้าหน้าที่เจรจา “แกนนำ 3 นิ้ว” ตรวจโควิด แต่ไม่ให้ความร่วมมือจนกินเวลาถึงยามวิกาล จึงต้องแยกห้องกักโรค ย้ำปล่อยปละละเลยไม่ได้ เผย มีกล้องบันทึกระหว่างการปฏิบัติงานยืนยัน
วันนี้ (18 มี.ค.) นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ร้องเรียนถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ในช่วงยามวิกาล ว่า จากข้อมูลที่ตนได้รับรายงาน คือ นายอานนท์ และพวก รวม 4 คน ได้เดินทางกลับมาจากศาล พร้อมด้วย ผู้ต้องขังอื่นที่ไม่ใช่คดีการเมือง อีก 9 คน มาถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 17.10 น. ส่วน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำราษฎร และ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำกลุ่ม Wevo ได้รับย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาถึงเวลา 18.46 น. ก่อนมาจำแนกทำประวัติ และทำทะเบียนแรกรับ จึงนำตัวมาห้องกักโรคแรกรับ พร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นที่รับตัวกลับมาในวันเดียวกันจากภายนอก ในห้องกักโรคแรกรับรวมเป็นทั้งหมด 16 คน
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า เนื่องจากทาง ศบค. ได้ประกาศให้พื้นที่เขตบางแค ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ในตลาดบางแค เป็นพื้นที่สีแดง จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่า 290 คน แล้วนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงจำเป็นต้องเจรจาเพื่อให้ทั้ง 3 ราย คือ นายภาณุพงศ์ หรือ ไมค์, นายจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน และ นายปิยรัฐ หรือ โตโต้ แยกกักโรคต่างหากจากผู้ต้องขังรายอื่นที่มาในวันเดียวกันและตรวจเชื้อโควิด-19 กินเวลาไปถึงเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ เนื่องจาก 3 คน มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ทั้งนี้ แม้ว่าในเรือนจำจะมีห้องกักโรค แต่มีผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกวันจากพื้นที่เสี่ยงฝั่งธนบุรี เขตบางแค และรอบๆเขตบางแค มีการเคลื่อนย้ายขึ้นรถและสัมผัสกับเจ้าหน้าที่ ประกอบกับ 3 ราย นั้น มีการกักโรคอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเพียง 7 วัน ยังไม่ครบกำหนด 14 วัน อาจจะมีการเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ แต่ทั้ง 3 คน ไม่ยอมและขออยู่รวมกับนายอานนท์
“ทางเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้ว เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและไม่เกิดความวุ่นวาย ต่อต้าน จนควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงขอความร่วมมือขอตรวจร่างกายเพื่อคัดกรอง PCR ตรวจไวรัสโควิด-19 ทุกคน ตามมาตรการป้องกัน และมีคนยินยอมให้ตรวจเพียง 9 คน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง ส่วน นายอานนท์ และพวก รวม 7 คน ที่เป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ยินยอม ทำให้แพทย์พยาบาลและสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต้องทำการตรวจทั้ง 9 คนก่อน เริ่มทำการตรวจในเวลาประมาณ 23.00 น. เศษ เนื่องจากต้องใช้เวลาเตรียมอุปกรณ์ ตั้งโต๊ะตรวจในบริเวณพื้นที่หน้าห้องกักและสวมชุดป้องกัน ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้งไม่ใช่ที่ลับตา โดยเรียกตรวจทีละคน พร้อมทั้งมีการพยายามเจรจากับผู้ต้องขังทั้ง 7 คนอีกครั้ง ที่ปฏิเสธในช่วงแรกไปด้วยซึ่งไม่เป็นผล จนแล้วเสร็จประมาณเที่ยงคืนกว่า”
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า จากนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมห้องใหม่เพื่อย้ายทั้ง 9 คน ที่ตรวจโรคแล้วไปกักโรคอีกห้อง เพื่อสังเกตอาการตามมาตรการ โดยกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นประมาณ ตี 2 เศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเคลื่อนย้าย ส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่เข้าเวร และอีกส่วนเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษที่มาร่วมในการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง 2 นาย เพื่อความปลอดภัย (เครื่องแบบชุดปฏิบัติการพิเศษไม่ได้กำหนดให้ติดป้ายชื่อ ยกเว้นหัวหน้าชุดที่จะมีป้ายชื่อและมีกระบองพกอยู่แล้วในเครื่องแบบ) เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังมีความเสี่ยง จึงต้องพกไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากกฎระเบียบที่กำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ ตนในฐานะประธานกรรมการประมวลข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว จะเร่งสืบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และจะรีบชี้แจงต่อสาธารณชนโดยเร็ว
นายวัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการทั้งหมดที่ล่าช้า เพราะทั้ง นายอานนท์ และเพื่อนๆ รวม 7 คน ไม่ยินยอมที่จะตรวจหาเชื้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่และทีมงานแพทย์ พยาบาลต้องช่วยเจรจา เสียเวลาอยู่นาน กินเวลาไปมากหลายชั่งโมง เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจก็เป็นผู้หญิง ทางเราก็ไม่อยากที่จะให้กินเวลาไปมากกว่านี้ เพราะยิ่งดึกก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบาก ทุกคนอยากให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จโดยเร็ว แต่เมื่อการเจรจาหลายครั้งไม่สำเร็จ ทำให้กระบวนการทุกอย่างกินเวลาหลายชั่วโมงจนดึก จนกลายเป็นประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ เราต้องแยกผู้ที่ให้ความร่วมมือตรวจแล้วแยกไปกักโรคอีกห้องต่างหาก ซึ่งหากพบการติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องย้ายไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล ซึ่งการตรวจโควิดจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะหากผู้ต้องขังคนอื่นรู้ว่าไม่ได้ตรวจคัดกรองแล้วภายหลังเกิดการแพร่ระบาดภายในเรือนจำ อาจเกิดการจลาจลร้ายแรงเหมือนกรณีเรือนจำในต่างประเทศ เพื่อหนีตาย และไม่สามารถเอาคน 3,000 กว่าคน ที่เป็นผู้ต้องขังที่ผ่านช่วงการกักโรคแล้วมาร่วมเสี่ยงได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทุกนายเป็นคนของกรมราชทัณฑ์ทั้งสิ้น มีบันทึกวิดีโอทั้งภาพและเสียงในช่วงการปฏิบัติงานเคลื่อนย้าย 9 ราย ด้วยว่าไม่ได้ทำร้าย ราชทัณฑ์ทำตามหลักสิทธิมนุษยชน เพียงแค่นำตัวผู้ต้องขังออกไปห้องกักโรคอีกห้องเท่านั้น ซึ่งหากศาลเรียกข้อมูลตรงนี้ก็พร้อมที่จะส่งให้ศาลเพื่อพิจารณาการประกอบการไต่สวน